‘คมนาคม’ ฝันสลาย! ญี่ปุ่นเมินลงทุนไฮสปีดเทรน “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่”

“คมนาคม” บินกล่อมญี่ปุ่นไม่สำเร็จ ย้ำชัดเมินลงทุนไฮสปีดเทรนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ชี้เป็นสมบัติของชาติที่รัฐบาลต้องลงทุนเอง อาจร่วมแค่ TOD-ถ่ายทอดเทคโนโลยี

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากการเดินทางเข้าพบของรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประเทศไทย กับนายเคอิฉิ อิชิอิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18-20 ต.ค. 2561 ณ ประเทศญี่ปุ่นนั้น โดยในการประชุมครั้งดังกล่าว ได้มีการหารือถึงกระทรวงคมนาคมและฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอหลากหลายรูปแบบ เพื่อชักชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับบุคลากรไทย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นได้ย้ำชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวเป็นสมบัติของประเทศชาติ ที่รัฐบาลต้องลงทุนเองทั้งหมดเพราะสุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับแผ่นดิน โดยญี่ปุ่นยืนยันว่าจะไม่เข้าไปร่วมลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบรวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและซ่อมบำรุง เป็นเรื่องของรัฐบาลไทยต้องเข้ามาดำเนินการลงทุนทั้งหมด

ขณะที่ด้านงานบริหารและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) นั้น แหล่งข่าวระบุว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความรู้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เพื่อผลิตบุคลากรรองรับในอนาคต อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ถือว่าเป็นภาระเม็ดเงินลงทุนที่สูงมากสำหรับประเทศไทย เพราะยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่นอีกมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่ต้องเร่งประกวดราคาและลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางการร่วมทุน จึงถือเป็นทางออกของการลดภาระงบประมาณและลดภาระเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทย

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในการประชุม ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18-20 ต.ค.ที่ผ่านมาดังกล่าว ได้มีการหารือถึงโครงการต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านระบบรางในไทย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่, แผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 (M-MAP 2), โครงการรถไฟสายใหม่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor :EWEC) รวมถึงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และโครงการความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) ทั้งนี้ จากการประชุมดังกล่าวนั้นยังคงไม่ได้ข้อสรุปเรื่องของการร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่

“โครงการ M-Map 2 ที่ญี่ปุ่นจะส่งแบบรายละเอียดโครงการฉบับสมบูรณ์มาให้ไทยในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งหลังจากนี้ไทยจะต้องมาศึกษา และเก็บข้อมูลเอง โดยเราขอให้ญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยในทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม เรื่องของการลงทุน เราได้แจ้งญี่ปุ่นไปว่า แต่ละโครงการมีขนาดใหญ่ ซึ่งการร่วมทุนเป็นแนวทางที่ดีที่สุด” นายชัยวัฒน์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับสาเหตุหลักที่ญี่ปุ่นปฏิเสธการลงทุนนั้นเนื่องจากพบว่าผลการศึกษายังไม่คุ้มค่าเพียงพอต่อการลงทุนเชิงพาณิชย์เมื่อดูจากปริมาณผู้โดยสาร แม้ว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ(EIRR) จะสูงถึง 14% แต่กลับพบว่าผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ดังนั้นรัฐบาลไทยควรลงทุนโครงการไปก่อนเพื่อสร้างดีมานต์และปริมาณผู้โดยสารให้ถึงจุดคุ้มทุน หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนมือส่งต่อโครงการให้เอกชนเข้ามาบริหารพร้อมรับความเสี่ยงต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้ญี่ปุ่นอาจเสนอเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับฝ่ายไทยเพื่อช่วยอุดหนุนโครงการดังกล่าว