กทท. ฉลอง 74 ปี ทะยานสู่ ‘สมาร์ทกรีนพอร์ต’ โชว์กำไรครึ่งปี 68 ทะลุ 3.5 พันล้าน อวดผลงานปี 67 ทำสถิติสูงสุด 3 ปีซ้อน
กทท. ฉลอง 74 ปี สุดปัง! โชว์ผลงานปี 67 โชว์กำไรสุทธิสูงสุด 7,648 ล้านบาท นิวไฮต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน พร้อมครึ่งปีแรก 68 กำไร 3,500 ล้านบาท สินค้าผ่านท่าโตต่อเนื่อง เดินหน้ายุทธศาสตร์ “PORTrait of the future” พัฒนา 3 Smart ยกระดับท่าเรือสู่ความยั่งยืน เร่งเครื่องแหลมฉบังเฟส 3 ผุดท่าเรือบกทั่วประเทศ เชื่อมเศรษฐกิจไทยสู่โลก
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 74 ปีที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้พัฒนาท่าเรือในกำกับดูแลทั้ง 5 ท่า เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค ในส่วนมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กทท. ก็ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบท่าเรืออย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการต่างๆ ตามแนวทาง ESG ดังนั้น บทบาทของ กทท. จึงไม่เพียงแค่การบริหารจัดการท่าเรือเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศและภูมิภาคเชื่อมโยงไทยกับเศรษฐกิจโลก
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า พิธีวันคล้ายวันสถาปนา กทท. ครบรอบ 74 ปี วันนี้ (16 พฤษภาคม 2568) จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “PORTrait of the future : Sailing to a Greener Tomorrow” สะท้อนภาพท่าเรือในอนาคตที่มีศักยภาพเทียบเท่าท่าเรือระดับโลก ทั้งยังสามารถอยู่คู่กับสังคมเมือง ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กรทั้งในด้านโลจิสติกส์ เมือง ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผ่านหลัก “3 Smart” หรือ “3S” ประกอบด้วย Smart Port มุ่งยกระดับการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย Smart Commercial การพัฒนาพื้นที่หลังท่าเพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพิ่มศักยภาพด้านการลงทุน ยกระดับพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ใจกลางเมือง Smart Community พัฒนาที่อยู่อาศัยในแนวสูง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐานและสร้างความสุขให้คนในชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาท่าเรือ
ในส่วนของผลประกอบการในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา กทท. มีรายได้สูงสุดรวม 17,224 ล้านบาท ถือเป็น New Record ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน โดยในปีงบประมาณ 2565 มีกำไรสุทธิ 6,276 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 มีกำไรสุทธิ 6,666 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 มีกำไรสุทธิ 7,648 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง ด้านผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568) มีกำไรสุทธิ 3,500 ล้านบาท มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,371 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.95% สินค้าผ่านท่า 61.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.56 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.35%
สำหรับท่าเรือระนองมีสินค้านำเข้า – ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา ส่งผลให้ปริมาณเรือ ตู้สินค้า และสินค้าผ่านท่าเพิ่มสูงขึ้นโดยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 131 เที่ยว เพิ่มขึ้น 49% ตู้สินค้าผ่านท่า 3,170 ตู้ เพิ่มขึ้น 371% สินค้าผ่านท่า 79,810 ตัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในส่วนของความคืบหน้าโครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่นั้น มีผลการดำเนินการส่งออกสัตว์ (สุกร) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบฯ อยู่ที่ 1,964 ตัว ส่งผลให้มีผลประกอบการในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า กทท. ยังมีโครงการที่ยังต้องสานต่ออีกหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีความคืบหน้า ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอยู่ที่ 68.30% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค กทท. ได้ส่งมอบพื้นที่และออกหนังสืออนุญาตเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนย้ายสินค้าอยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนเอกสารประกวดราคา ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 4 ส่วนงานต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ได้พิจารณาตามผลการศึกษาแผนแม่บทของ สนข. โดยในจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีความชัดเจนในตำแหน่งที่ตั้งและประชาชนในพื้นที่ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติมที่เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาโครงการในพื้นที่ สำหรับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและนครสวรรค์อยู่ระหว่างการวางแผนการศึกษาเพื่อขยายโครงการในอนาคต ทั้งนี้ยังมีแผนการศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (สถานีภาชี) และจังหวัดราชบุรี (สถานีหนองปลาดุก) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาท่าเรือบกของ กทท. โดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ กทท. ยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชน สร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน อาทิ การเปิดหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี การมอบทุนการศึกษา สนับสนุนด้านการแข่งขันกีฬาและดนตรี ฯลฯ ในด้านสิ่งแวดล้อม กทท. แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเพื่อก้าวสู่ท่าเรือสีเขียวผ่านยุทธศาสตร์ 2D – Digitalization และ Decarbonization เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
อย่างไรก็ตาม กทท. มุ่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมพัฒนาองค์กรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร (SMART-PAT) ควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี คุณภาพชีวิตชุมชน และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน