‘KBank’ เตรียมปล่อยสินเชื่อกว่า 1.2 พันล. โฟกัส SME กลุ่ม ‘E-Commerce’ ขนาดเล็ก

กสิกรไทย ระบุธุรกิจแฟรนไชส์ไทยโตต่อเนื่องคาดปี 62 ทะยาน 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่แผนธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ SME เบนเข็ม เจาะกลุ่มขนาดเล็ก 1 ล้านบาทต่อราย ชี้เป้าพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ โดยไตรมาสแรกปล่อยสินเชื่อ SME ใหม่ไปแล้ว 350 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปีคาด 1.2 พันล้านบาท
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ ไทยมีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เติบโตต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างสูง และในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดมากถึง 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าคิดเป็นจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์จะอยู่ที่ 571 ราย เติบ โตเฉลี่ย 19% ต่อปี (ปี 2549-2562) จำนวนสาขาแฟรนไชส์มีมากกว่า 1 แสนสาขาทั่วประเทศ
ขณะที่ พอร์ตสินเชื่อแฟรนไชส์ของธนาคารในไตรมาสแรกมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,530 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 5.5% ซึ่งถือว่ามีการเติบโตกว่าในอุตสาหกรรม SME ขณะที่ทั้งปียอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท เติบโต 6% โดยปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME ไปแล้วประมาณ 60 แบรนด์ครอบคลุม 6 กลุ่มอุตสาหกรรม
นายสุรัตน์ กล่าวต่อว่า การปล่อยสินเชื่อ SME ใหม่ต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปีนี้ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 350 ล้านบาท และทั้งปีตั้งเป้าอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 1 พันล้านบาท โดยมีหนี้เสียหรือ NPL ต่ำมากไม่ถึง 1% เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารเองได้พยายามเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ และเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ อาทิ Cafe Amazon, Swensens, Dairy Queen, The Pizza Company และ KPN Music เป็นต้น และล่าสุดกับ TYREPLUS ดีลเลอร์ รายใหญ่ และศูนย์บริการหลังการขายครบวงจรแบบควิกเซอร์วิสในเครือของ Michelin ซึ่งจะปล่อยสินเชื่อรวม 200 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน กสิกรได้มีการเจรจาและทำการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ระกอบการ SME ขนาดใหญ่และขนาดกลางแล้วประมาณ 10 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารเองได้พยายามที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ โดยดอกเบี้ยที่คิดนั้น จะขึ้นอยู่กับศักยภาพและขนาดของธุรกิจในแต่ละราย ซึ่งเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 8% แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ดอกเบี้ยที่คิดจะต่ำลงเนื่องจากกสิกรเองมีความมั่นใจ
พร้อมกันนี้ แผนการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์จากนี้จะขยับไปหาลูกค้าที่มีขนาดเล็กแต่ทั้งนี้ผู้ที่ขอสินเชื่อจะต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้ 1 ล้านบาทต่อราย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ เพราะเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง รวมถึงกลุ่มค้าขายธรรมดา และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งยังคงมีการเติบโตอยู่
สำหรับ แนวโน้มธุรกิจ SME ของกสิกรเองปี 2561 ที่ผ่านมาเติบโต 2.2% ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 2-4% แม้ว่าช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจจะยังไม่ดีนัก และสถานการณ์การเมืองยังไม่ชัดเจน การที่ธนาคารตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 2-4% มองว่าเป็นเป้าหมายที่เราสามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้เติบโตขึ้นสูง และเหตุผลที่วางเป้าไว้เท่านี้เพราะเราขยับไปหาลูกค้าที่มีขนาดเล็กลง