ซีเควสต์ เร่งปั้นบุคลากรทักษะสูงด้านเทคโนโลยี ROV รับอุตสาหกรรมทางทะเลโต!

 บริษัท ซีเควสต์ จำกัด (ZeaQuest Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เมอร์เมด ซับซี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เร่งผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ หรือ ROV Pilot เพิ่มขึ้น 30 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production หรือ E&P) ในประเทศไทย และการขยายตัวของตลาดพลังงานในระดับโลก

อุตสาหกรรมทางทะเลกำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีความต้องการในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับกิจกรรมวิศวกรรมทางทะเล ตั้งแต่งานติดตั้งและซ่อมแซมท่อส่งน้ำมันใต้น้ำ งานตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างใต้ทะเล งานสำรวจทางธรณีวิทยาใต้น้ำ งานค้นหาทรัพยากรธรรมชาติและสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นมหาสมุทร ฯลฯ หลายบริษัทฯ เริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยผู้ปฏิบัติงานจากระยะไกล (ROV – Remotely Operated Vehicle) หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระปราศจากการควบคุมจากมนุษย์ (AUV – Autonomous Underwater Vehicle) และยานพาหนะผิวน้ำไร้คนขับ (USV – Unmanned Surface Vehicles) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ในประเทศไทยที่กำลังขยายตัว พบว่ามีสัดส่วนการใช้งาน ROV อยู่ที่ร้อยละ 70  ขณะที่ AOV และ USV อยู่ที่ร้อยละ 30

คุณธษภิชญ ถาวรสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเควสต์ จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท ซีเควสต์ฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการนำยานพาหนะใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล (ROV) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ในการปฏิบัติงานใต้ทะเลมาใช้ เพื่อลดต้นทุนการให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเล ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของนักประดาน้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบและในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงและสำรวจโครงสร้างใต้ทะเลมากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ (ROV) ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะทาง เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มีความซับซ้อนและต้องการการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันยังช่วงชิงตัวบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทำให้ค่าใช้จ่ายจัดจ้างบุคลากรสายงานนี้อยู่ในระดับสูงมาก ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) จึงสูงขึ้นตามมา หลายบริษัทจึงเลือกใช้ฟรีแลนซ์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินงานแทน แต่ก็จะขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะในระยะยาว

“การขาดแคลนบุคลากรเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมทางทะเล เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นเหตุผลที่บริษัท ซีเควสต์ ฯ ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ (ROV Pilot Development Program) โดยจัดฝึกอบรมการซ่อมบำรุงและควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ ณ ศูนย์ฝึกอบรมในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี ภายในมีสระน้ำลึกประมาณ 7 เมตรรวมถึงการให้โอกาสผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาการทำงานผ่านการปฏิบัติงานจริงร่วมกับบุคลากรต่างชาติ เพื่อให้เข้าใจปัญหาต่างๆ ในการทำงานมากขึ้น ปัจจุบันบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ท่าน ได้มีทักษะด้านเทคนิคผ่านเกณฑ์ในการเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ใต้ทะเลขั้นต้นที่ต้องมีชั่วโมงการทำงานตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และเนื่องจากบริษัท ซีเควสต์ฯ สามารถดำเนินธุรกิจการสำรวจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงโครงสร้างใต้ทะเลได้อย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทฯ จึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตบุคลากรผ่านโครงการอบรมหลักสูตรROV ของบริษัท เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญอันทรงคุณค่าของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน” คุณธษภิชญ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ บุคลากรในโครงการอบรมหลักสูตร ROV ของบริษัท ซีเควสต์ ฯ จะต้องผ่านมาตรฐานของสมาคมผู้รับเหมาทางทะเลระหว่างประเทศ (IMCA – International Marine Contractors Association) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Pilot ระดับ 1, Pilotระดับ 2, Sub-Engineer และ Supervisor นอกจากนี้ ยังต้องสะสมชั่วโมงบินในการทำงานจริง คล้ายกับกระบวนการฝึกของนักบินอีกด้วย

ปัจจุบัน บริษัท ซีเควสต์ฯ มีบุคลากรด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 3 คน และในปีนี้ จะมีบุคลากรได้การรับรองเพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมเป็น 7 คน

โครงการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำหรือ ROV Pilot Development ที่ดำเนินการโดยบริษัท ซีเควสต์ ฯ จึงนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ทั้งยังมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

คุณธษภิชญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคต บริษัท ซีเควสต์ ฯ วางแผนที่จะยกระดับการฝึกอบรมบุคลากรโดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เช่น การติดตั้งเครื่องจำลองสถานการณ์ (Simulator) โครงสร้างสำหรับการฝึกซ่อมบำรุง และเครื่องสร้างคลื่น เพื่อเพิ่มความสมจริงในการฝึกทักษะการควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความพร้อมให้กับบุคลากรไทยในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาบุคลากรให้เพิ่มขึ้นเป็น 30 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมเวทีโลก รวมทั้ง บริษัท ซีเควสต์ ฯ ยังมุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593”