ปักกิ่ง, 15 ก.ค. 2567 (ซินหัว) — ผู้นำจีน “สีจิ้นผิง” ได้ทยอยเปิดเผยมาตรการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ขณะคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เริ่มต้นการประชุมนโยบาย ระยะ 4 วัน ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567
ณ พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ ได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานในนามกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และแจกแจงร่างมติเกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและการเดินหน้าการสร้างความทันสมัยของจีน
การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเทียบเท่า “การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3” ครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมในปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน
ช่วงก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งปัจจุบัน สีจิ้นผิงได้ส่งเสริมการปฏิรูป กระตุ้นความพยายาม “ปลดปล่อยความคิดยิ่งขึ้น ปลดแอกและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคม ปลดเปลื้องและเพิ่มพูนพลังความมีชีวิตชีวาของสังคม” เพื่อ “มอบแรงกระตุ้นอันแข็งแกร่งและหลักประกันเชิงระบบสำหรับการสร้างความทันสมัยของจีน”
สิ่งนี้สร้างความคาดหวังการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งรอบใหม่ พร้อมขจัดข้อวิตกกังวลว่าการปฏิรูปของจีนจะ “หยุดนิ่ง” หรือเศรษฐกิจของจีนจะ “สูญสิ้นพละกำลัง”
ตั้งแต่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อกว่าทศวรรษก่อน จีนได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” โดยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะการปฏิรูปเป็นจุดเด่นของยุคใหม่นี้
อย่างไรก็ดี จีนในวันนี้ได้อยู่ในห้วงยามสำคัญของการเร่งรัดการปฏิรูป ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่นานัปการ
เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง
สีจิ้นผิงถือเป็นนักปฏิรูปที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของจีนต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง โดยผู้นำทั้งสองมีภารกิจเดียวกันคือการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่อยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
เมื่อครั้งเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดกว้างช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนน้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,300 บาท) ทำให้ความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของเขาเริ่มต้นจากเกือบศูนย์
ทว่าเมื่อครั้งสีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.19 แสนบาท) แต่การเติบโตได้ปรับเปลี่ยนความเร็วจากเดิมและข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เริ่มลดน้อยถอยลง
แทนที่จะหยุดพักอยู่กับความสำเร็จของบรรดาผู้นำรุ่นก่อนหน้า สีจิ้นผิงกลับมุ่งมั่นเดินหน้าการปฏิรูป แม้รับรู้ดีว่าภารกิจนี้ยากเย็นเพียงไรโดยเขากล่าวว่าทำส่วนที่ง่ายของภารกิจนี้เสร็จสิ้นจนเป็นที่พึงพอใจของทุกคนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานยากเหมือนกระดูกแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยว
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการปฏิรูปมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ส่งเสริมการพัฒนาเมือง–ชนบทเชิงบูรณาการ ต่อสู้กับการทุจริตคดโกง สนับสนุนการประกอบธุรกิจ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดัน “การปฏิวัติเขียว“
เนื่องด้วยมาตรการปฏิรูปเหล่านี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเสริมสร้างสถานะของจีนในการเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมการเติบโตรายสำคัญของโลก
ปัจจุบันจีนต้องเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษยามเผชิญกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและความท้าทายใหญ่ต่างๆ เช่น แรงกดดันจากเศรษฐกิจขาลงหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด–19) กอปรกับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็ก–ขนาดกลางบางส่วน
เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและประเทศชาติ สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็น “วิธีการสำคัญ” สู่การบรรลุการสร้างความทันสมัยของจีนและสานต่อปาฏิหาริย์ทางการพัฒนาของประเทศอ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.xinhuathai.com/high/450397_20240715