การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าโอทอป

โดยผ่านการจัดตั้งศูนย์อีคอมเมริทหรือศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าโอทอปโดยผ่านการจัดตั้งศูนย์อีคอมเมริทหรือศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ครั้งที่แล้ว ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์โอทอปโดยผ่านศูนย์อีคอมเมริซหรือศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังมิได้มีการจัดตั้งศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เบ็ดเสร็จซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ กล่าวคือเป็นศูนย์ที่จะช่วยผู้ประกอบการในการทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketing) เมื่อมีการติดต่อกับลูกค้าในต่างประเทศ ศูนย์ฯจะช่วยดำเนินการจนกระทั่งได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ศูนย์อีคอมเมริซดังกล่าวจะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนข้อมูลด้านการทำธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ การดำเนินพิธีการนำเข้า-ส่งออก กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ เช่นการจองตู้สินค้า คลังสินค้าและรถขนส่งและการจองระหว่างเรือ ศูนย์อีคอมเมริซยังจะให้ข้อมูลและคำแนะนำในด้านต่างๆแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

ขณะที่ผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังตื่นตัวสนใจการใช้ดำเนินธุรกิจโดยใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนและข้อจำกัดในการทำธุรกิจแบบเดิมมีมากขึ้น รวมทั้งแรงกดดันอันเนื่องมาจากภาวะน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายได้ไม่สูงขึ้นตาม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้นซึ่งเป็นทางเลือกทั้งในการซื้อและการขายสินค้า ขณะที่การนำเอาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในแวดวงธุรกิจอาจจะแบ่งได้เป็น  7 รูปแบบหลักคือ รูปแบบตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace), การชำระเงินออนไลน์ (E-Payment) ระบบการขนส่ง (Logistics) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การโปรโมทสินค้าและบริการ การสร้างความเชื่อถือและพันธมิตรการสื่อสาร (Trust & Communication Alliance) และการสนับสนุนด้านการเงิน (Financial Support)

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน รวมทั้งสามารถนำเอาคำแนะนำและกลยุทธ์ต่างๆที่ได้รับมาปรับใช้กับการดำเนินการของตนอย่างยั่งยืน ในอันที่จะสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐบาลจำเป็นต้องศึกษารูปแบบและแนวทางในการจัดตั้งศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เบ็ดเสร็จขึ้น เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งศึกษาปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการหาตลาดและรูปแบบของการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปสู่ตลาดในสภาพที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งขาดการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นลง  นอกจากนี้ยังขาดทักษะหรือการจัดการในอันที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะและความรู้ความเข้าใจต่างๆ จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดเทคนิคและองค์ความรู้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ของพวกตนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

หน่วยงานภาครัฐบาลควรพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่ การบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการจัดการการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้จัดส่งวัตถุดิบ) ไปยังปลายน้ำ (ลูกค้าหรือผู้บริโภค) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการสามารถจำหน่ายได้ทั้งภายในและต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีระดับคุณภาพของการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ดี ขณะที่การใช้ศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นับว่าเป็นเครื่องมือที่ดียิ่งในอันที่จะเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโอทอปให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่าช่องทางอื่นๆ และหากหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและเป็นระบบ ก็สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้