‘การรถไฟฯ’ ผนึก 2 มูลนิธิฯ จัดอีเวนต์ ‘รถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้’ ครั้งที่ 2 พาน้องๆ ‘รร.สอนคนตาบอดกรุงเทพฯ’ นั่ง KIHA 183

การรถไฟฯร่วมกับมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา  & มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์จัดกิจกรรมรถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้ครั้งที่ 2 นั่งรถไฟ KIHA 183 ส่งเสริมการเรียนรู้ มอบประสบการณ์ และความสุขให้แก่น้องๆ รร.สอนคนตาบอดกรุงเทพฯ 100 คน

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า รฟท.ได้ร่วมกับ มูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมรถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้ครั้งที่ 2 นำคณะครูและน้องๆ ผู้บกพร่องทางการมองเห็นฯ จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จำนวน 100 คน นั่งรถไฟ KIHA 183 เดินทางท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่นอกห้องเรียน

นอกจากนี้ ยังพร้อมกับการทัศนศึกษาและรับฟังการบรรยายจากวิทยากร เกี่ยวกับเรื่องราวของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประวัติความเป็นมาของขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่ร้อยเรียงให้ความรู้ในเรื่องของประเทศญี่ปุ่น ประวัติและข้อมูลที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งในเรื่องอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม สถานที่สำคัญ ตลอดถึงความสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทราของการเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ( Eastern Economic Corridor)

โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา ดร.วรรธนะ เจริญนวรัตน์ รองประธานมูลนิธิฯ นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ผู้บริหารการรถไฟฯ ผู้บริหารมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ และมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา เข้าร่วมกิจกรรม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมรถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่เด็กและเยาวชน ตามนโยบายของการรถไฟฯ ที่ต้องการให้องค์กรมีส่วนช่วยดูแลรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ได้นำคณะออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)  แลนด์มาร์คที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราววิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มุ่งหน้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยขบวนKIHA 183 ที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท JR HOKKAIDO จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการบรรยายเรื่องราวการเดินทางของ KIHA 183 ที่นำมาซ่อมบำรุงและดัดแปลงจนสามารถนำออกมาให้บริการแก่ประชาชนในด้านการท่องเที่ยว และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกิจการรถไฟไทย

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า การนำคณะครูและน้องๆ ผู้บกพร่องทางการมองเห็นเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสออกไปเรียนรู้โลกกว้างด้วยการนั่งรถไฟ ทำให้ได้รับทั้งความรู้ และประสบการณ์ ควบคู่กับความสนุกสนาน อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตจากโลกภายนอก และสร้างภูมิคุ้มกัน ความเชื่อมั่น  การเห็นคุณค่าในตัวเอง ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน

สำหรับ .ฉะเชิงเทรา ถือมีความสำคัญเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยว และประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาเรียนรู้อีกมากมาย จึงนับเป็นโอกาสดีที่น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ได้มีโอกาสเดินทางสัมผัสโลกภายนอกด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปสักการะหลวงพ่อโสธรที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระราชภาวนาพิธาน เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้โอวาทในเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม และประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

พร้อมทั้ง ได้ร่วมรับฟังบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมเรื่องอาหารและของหวานของดี เมืองแปดริ้ว ชุมชนวัดผาณิตาราม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรม และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องขนม อาหาร เป็นต้นกำเนิดของขนม และอาหารอร่อยหลายอย่าง รวมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ105 มะม่วงขายตึก ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวและมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองที่มีต้นกำเนิดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปลากะพงยักษ์ สินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัด และฉะเชิงเทรายังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ น้องๆได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ข้าวหอมมะลิ ปลาช่อนต้มข่า กุ้งผัดยอดมะพร้าว ปลากะพงทอดน้ำปลา ไก่ห่อใบเตย ไข่ยัดไส้  แตงโมปลาแห้ง ลูกจากลอยแก้ว โดยทางมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และภาคีเครือข่าย รวมถึงชุมชนวัดผาณิตาราม ได้นำมะม่วงและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดมาให้น้องๆได้เรียนรู้ รับประทาน สัมผัสของจริง

อีกทั้งรับฟังข้อมูลไปในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมมะม่วงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มะม่วงน้ำปลาหวาน ที่มีมะม่วงหลากหลายชนิดอาทิ มะม่วงขายตึก มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงแรด มาให้น้องๆได้ลิ้มรสรับรู้ พร้อมได้สัมผัสถึงความแตกต่าง เป็นต้น

จากนั้นออกเดินทางไปสู่ มินิมูร่าห์ฟาร์ม แหล่งท่องเที่ยวเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ประจำจังหวัด เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เด็กๆ ให้ความสนใจและชื่นชอบ เพราะมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเลี้ยงอาหารสัตว์ต่าง เช่น กระต่าย ควาย เป็ด รอบๆฟาร์ม และน้องๆ ได้ลงมือทำพิซซ่า และไอศกรีมด้วยตัวเอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน สร้างรอยยิ้มและความประทับใจตลอดการเดินทาง

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ มูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนาและมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนทำให้ประชาชนคนไทยทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียม