เปิดแล้ว! 2 ท่าเรือโฉมใหม่ ‘ราชินี & บางโพ’ ยกระดับการเดินทางทางน้ำ เชื่อมโยงไร้รอยต่อ จ่อเปิดเพิ่มอีก 3 ท่าเรือในปี 66

นายกฯศักดิ์สยามมอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ประชาชน เปิด 2 ท่าเรือโฉมใหม่ท่าเรือราชินี & ท่าเรือบางโพพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต อัปเดตปีหน้าพัฒนาเสร็จอีก 3 ท่าเรือ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต วันนี้ (23 .. 2565) ว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับนานาชาติตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามที่กระทรวงคมนาคม โดย จท. มีแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือที่มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะต่าง ทั้งทางถนนและทางราง ภายใต้แผนงานดังกล่าว จท. ได้ก่อสร้าง ปรับปรุงท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพแล้วเสร็จ

โดยมีระบบการให้บริการที่ทันสมัย รูปลักษณ์สวยงาม เป็นอารยสถาปัตย์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้ประชาชน ผู้รับบริการ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางทางน้ำ เป็นทางเลือกที่ดีของการเดินทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ เนื่องจากค่าโดยสารมีราคาประหยัด สามารถกำหนดระยะเวลาการเดินทางได้แน่นอน บรรยากาศในการเดินทางมีความผ่อนคลาย ทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำมีความสวยงาม รวมทั้งการนำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานตามนโยบายของรัฐบาลจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดปริมาณการใช้น้ำมัน ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และจะทำให้การสนับสนุนแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยาบรรลุเป้าหมายสำเร็วลุล่วงเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนและส่วนรวมต่อไป

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้มีความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อสะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยจท. หน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ได้กำหนดแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2562-2568 ที่จะพัฒนาท่าเรือ จำนวน 29 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลดังนี้

ดำเนินการแล้วเสร็จ (ระหว่างปี 2562-2564) เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร และท่าเรือพายัพ

ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ

อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จในปี 2566 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือเกียกกาย

แผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2566-2568 จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือเขียวไข่กา ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ท่าเรือพรานนก ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือวัดสร้อยทอง ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือวัดเทพนารี และท่าเรือรถไฟ

ทั้งนี้ ท่าเรือดังกล่าวจะมีการพัฒนาให้มีรูปลักษณ์สวยงามตามหลัก (Universal Design) มีระบบการให้บริการที่ทันสมัย เชื่อมต่อระบบการขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน มีส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ เมื่อการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวัน ในปี 2570

สำหรับท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพที่เปิดให้บริการในวันนี้ ถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของระบบล้อ ราง เรือ โดยท่าเรือราชินีจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สนามไชย เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและมีความเก่าแก่เชิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทั้งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โบสถ์ซางตาครู้ส กุฎีจีน ป้อมวิไชยประสิทธิ์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มิวเซียมสยาม และปากคลองตลาด

ขณะที่ ท่าเรือบางโพจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า MRT บางโพ และอยู่ใกล้กับทางด่วนศรีรัช เป็นจุดเชื่อมการเดินทางเข้าสู่เมืองและสถานที่สำคัญที่มีความเก่าแก่ คือ ย่านค้าไม้ ซึ่งเป็นแหล่ง ซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่อดีต และสถานที่ท่องเที่ยวตามวิถีชีวิตที่ทันสมัย เช่น ห้างสรรพสินค้าเกตเวย์ บางซื่อ (Gateway Bangsue) ศูนย์กลางชอปปิ้งพร้อมรับอนาคตชุมชนเมืองใหญ่ เป็นต้น