เปิดตัว โรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ ดูแลสุขภาพหลังภาวะวิกฤต

การดูแลสุขภาพระยะกลาง (Intermediate care ) ระยะฟื้นฟู (sub-acute care) จากภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันด้วยโรคหรืออุบัติเหตุและรวมทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนำไปสู่ความจำเป็นด้านสุขภาพ เมื่อผู้ป่วยพ้นจากระยะเฉียบพลัน การดูแลต่อเนื่องในระยะต่อมาเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

พญ.เมธินี ไหมแพง ผู้ช่วยประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นสถานบริการทางการแพทย์ในระดับตติยภูมิที่มีมาตรฐานในระดับสากล มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ สามารถรองรับผู้รับบริการที่มีโรคซับซ้อน การรักษาโรคซับซ้อนมีความยากต้องอาศัยการดูแลรักษาที่ซับซ้อน เช่น แพทย์หลายแผนกและทีมสหสาขา เครื่องมือที่พร้อม และวิธีการรักษาที่หลากหลาย รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยความเปราะบางของร่างกายตามวัยจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซับซ้อน และเพิ่มอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระยะเวลาการพักรักษาตัวและการฟื้นฟูนาน มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และอาศัยการดูแลแบบองค์รวมจากทีมแพทย์ อายุรแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลวิชาชีพ ทีมนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เภสัชกร นักโภชนาการ เป็นต้น ทางโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงเล็งเห็นความสำคัญของผู้ป่วยที่ต้องได้ความความดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

การเปิด รพ.ชีวา ทรานสิชั่นนัลแคร์ นี้ นับเป็นมิติใหม่ในการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ในการดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟู สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน ต้องได้รับการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง หรือรับบริการบางรายการของผู้ป่วยนอกที่ยังไม่พร้อมจะกลับบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกและช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางไป-กลับโรงพยาบาลในการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ หรือในช่วงเทศกาลต่างๆ สามารถพาผู้สูงอายุที่บ้าน มาเข้าพัก เพื่อช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้าของครอบครัวได้ ทั้งนี้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน สามารถรับบริการได้อย่างรวดเร็ว ประสานงานส่งต่อได้ทันท่วงที และเป็นข้อดีที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์และพยาบาล ในมาตรฐานการรักษาพยาบาลเดียวกันกับโรงพยาบาลกรุงเทพ

พญ.พัณณิดา วัฒนพนม ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า  การบริการที่สำคัญ คือ การดูแลแบบองค์รวม โดยอายุรแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทีมนักกายภาพบำบัด (รวมถึง นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด) เภสัชกร นักโภชนาการ และพยาบาลวิชาชีพ พร้อมวางแผนการดูแลอย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมร่วมกันเพื่อติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด มาตรฐานการดูแลอย่างมีคุณภาพ ให้การใส่ใจดูแลอย่างเข้มข้น โดยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เฉพาะทาง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและฝึกทักษะในด้านความคิดหรือแม้กระทั่งร่างกาย เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้ พื้นที่ส่วนตัว ห้องพักกว้างขวาง สะอาด ปลอดภัย อุปกรณ์ครบครัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ด้วยการออกแบบห้องพักส่วนตัวที่เป็นสัดส่วน โปร่ง สะดวกสบาย กว้างขวาง บรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน และมีเวลาส่วนตัวกับครอบครัว คำนึงถึงความปลอดภัย มีสวิตซ์อัจฉริยะสำหรับขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครัน พร้อมสวนหย่อมให้บรรยากาศผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติ ออกแบบสถานที่โดยทีมงานสถาปนิกมืออาชีพ เพื่อรองรับการพักอาศัยของผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะพักฟื้น และการดูแลเอาใจใส่เสมือนญาติมิตร อบอุ่น เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยเสมือนคนในครอบครัว

จุดเด่น (Highlights of the center) คือ 1.ให้การดูแลแบบองค์รวมโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ มีแพทย์ด้านอายุรศาสตร์และอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุโดยเฉพาะร่วมดูแลผู้ป่วย (อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์)2. โปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายอย่างต่อเนื่องมีโปรแกรมฟื้นฟูร่างกายอย่างเข้มข้น โดยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด โดยได้รับการทำกายภาพบำบัด และ/หรือ กิจกรรมบำบัด อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน ทุกวัน (ตามศักยภาพของผู้ป่วย) 3. มีกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายสำหรับช่วยฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ การทำกิจกรรมบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลาย รวมถึงการให้ความรู้โดยทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ 4. สะดวกสบาย มีเวลาส่วนตัวกับครอบครัว ห้องพักมีความเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และบรรยากาศอบอุ่นเสมือนบ้าน 5. สอนและให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ดูแล มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะที่จะดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านได้ ได้อย่างปลอดภัย 6. พยาบาลประสานงานดูแลผู้ป่วยให้มีความต่อเนื่องในการรักษา ตั้งแต่การพักฟื้นในโรงพยาบาล ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน และติดตามอาการหลังกลับบ้าน 7. ทีมสหสาขาวิชาชีพมีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินผลการรักษา และวางแผนปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงการวางแผนการกลับไปดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และมีการประชุมร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวทุกเดือน เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการรักษา

พ.ต.นพ.อนุวัฒน์ วัลลภาพันธุ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บ ภายหลังการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางแล้ว ผู้ที่จะให้การฟื้นฟูผู้ป่วยในระยะต่อมา ให้กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็ว คือ ทีมสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด และพยาบาล เป็นต้น คำว่าผู้ป่วยระยะฟื้นฟู (Sub-acute phase) ก็คือ ผู้ป่วยที่มีอาการผ่านพ้นภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้วและมีอาการคงที่ แต่ยังคงมีความผิดปกติของร่างกายบางส่วนอยู่ มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในช่วงเวลาที่มีการฟื้นตัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคม ทำกิจกรรมและทำงานได้ ตามความสามารถสูงสุดของผู้ป่วย

โดยผู้ที่จะเข้ารับการให้บริการในระยะฟื้นฟู ได้แก่ 1) ผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาล หรือต้องฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ผ่าตัดกระดูกสะโพก หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีการบาดเจ็บหลายระบบของร่างกาย 2) ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ 3) ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องการการฟื้นฟู เช่นมีภาวะกล้ามเนื้อน้อย มีการช่วยเหลือตัวเองลดลง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลด้วยมาตรฐานการบริการในระดับสากล พร้อมด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดที่ทันสมัย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสุขภาพได้ดียิ่งขึ้นอย่างเต็มความสามารถ

สามารถสอบถามรายละเอียดการบริการได้ที่ โรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย โทรศัพท์ 02-310-3993 หรือโทร. Contact Center 1719