‘ทางหลวง’ ซาวน์เสียง ‘ชาวอุบลฯ’ ปรับปรุงถนน & ขยาย 4 เลน ‘ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร’ 13 กม. แก้ปัญหาจราจร หนุนคมนาคมขนส่ง

ทางหลวงซาวน์เสียงชาวอุบลราชธานีปรับปรุงถนน & ขยาย 4 เลนทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหารระยะทาง 13 กม. พร้อมเร่งศึกษา 450 วัน คาดแล้วเสร็จ ช่วยแก้ไขปัญหาจราจร รองรับการคมนาคมขนส่งในอนาคต

นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร วันนี้ (29 เม.. 2565) ว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ขอบเขตขั้นตอนการศึกษา และแนวคิดการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการพร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

สำหรับอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นอำเภอหนึ่งใน .อุบลราชธานี ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากอำเภอพิบูลมังสาหารอยู่กึ่งกลางระหว่างอำเภอต่างๆ มีสะพานข้ามแม่น้ำมูลเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับอำเภอทางทิศเหนือ จึงเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคม ศูนย์รวมธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และประตูสู่อินโดจีน และสามารถใช้เส้นทางช่องแม็กเป็นจุดผ่านแดน เพื่อเชื่อมต่อไปยังลาว เวียดนาม และกัมพูชาได้ ซึ่งการเป็นศูนย์กลางของอำเภอรอบข้าง ทำให้มีการจราจรหนาแน่นขึ้น จึงทำให้จำนวนช่องจราจรไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้เส้นทาง

นายสมเพชร กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ทล. จึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท สแปนจำกัด บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ลูเซ่ ครีเอชั่น จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองพิบูลมังสาหาร โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียด ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคาและเพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยมีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด450 วัน

สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีมีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 217 ไปทางทิศใต้ และมีแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก แนวเส้นทางโครงการวางตัวอยู่ทางด้านใต้ของอำเภอพิบูลมังสาหารตามแนวทางทิศตะวันออกตะวันตกตัดกับถนนสายหลัก คือ ทางหลวงหมายเลข 217 ช่วงที่มุ่งหน้าไปยังอำเภอสิรินธร และมุ่งหน้าต่อไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ตัดกับทางหลวงชนบท อบ.4038 และตัดกับแม่น้ำมูล มุ่งหน้าต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศเหนือบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 2222 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ รวมระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งสภาพโดยทั่วไปบริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร มีบ้านเรือนแหล่งที่อยู่อาศัยไม่หนาแน่น ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาเส้นทางโครงการตามแนวสายทางในอำเภอพิบูลมังสาหารทั้ง 5 ตำบล ได้แก่ พิบูล กุดชมภู ทรายมูล  โพธิ์ศรี และโพธิ์ไทร

สำหรับแนวคิดในการออกแบบเส้นทางโครงการ จะดำเนินการออกแบบปรับปรุงให้มีขนาด 4 ช่องหรือมากกว่า และออกแบบทางแยกต่างระดับอย่างน้อย 3 แห่ง รวมทั้งออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำมูล 1 แห่ง โดยให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคต พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่น ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง โดยจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง