ราคาน้ำมันดิบคาดปรับขึ้น จากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลง

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 ก.พ.–1 มี.ค.62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ประกอบกับ ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มโอเปก นอกจากนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะลุล่วงไปด้วยดีและส่งสัญญาณดีต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนถึงกำหนดการหยุดการผ่อนผันมาตราการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ  

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • อุปทานน้ำมันดิบโลกคาดปรับตัวลดลง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตที่ได้ตกลงไว้ ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียมีความคาดหวังว่าตลาดน้ำมันดิบจะกลับสู่ภาวะสมดุลภายในเดือน เม.ย.62 นี้  นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาคาดปรับลดลง จากผลของมาตราการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ 
  • ปริมาณน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังซาอุดิอาระเบียวางแผนปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าในข้อตกลงถึง 0.5 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียในเดือน มี.ค.62 จะอยู่ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 6.9 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในซาอุดิอาระเบีย Safaniyah ซึ่งเป็นแท่นน้ำมันดิบกลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ยังคงปิดทำการบางส่วนเพื่อซ่อมแซมสายเคเบิลหลักที่ขาดจากอุบัติเหตุสมอเรือเทียบท่าเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • จับตาสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์เผยว่าการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี และอาจมีการเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวันที่ 1 มี.ค.62 นี้ออกไป เพื่อให้การเจรจาเสร็จสิ้น โดยกำหนดการขึ้นภาษีเดิมคือ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 หากสองประเทศไม่สามารถทำการตกลงกันได้
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้น หลังสำนักสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ของ 7 แหล่งผลิตใหญ่ในสหรัฐฯ ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 84,000 ล้านบาร์เรล/วัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน มี.ค.62 โดยแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Permian จะเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตมากที่สุดถึง 43,000 บาร์เรล/วัน ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตนี้จะแตะระดับสูงสุดที่ 4.024 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน มี.ค. นี้
  • ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านอาจปรับลดน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านก่อนถึงกำหนดการหยุดการผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค.62 โดยปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของอิหร่านในเดือน ม.ค.62 อยู่ที่ระดับ 1.1-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/62 สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 ก.พ.62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.67 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 57.26 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.87 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 67.12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 67 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงเพื่อปรับสมดุลตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีทิศทางบวก หลังทรัมป์มีทีท่าที่จะเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวันที่ 1 มี.ค.62 ออกไป

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาแสดงความพอใจต่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในขณะนี้และไม่เห็นความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก นอกจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดสำนักสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.พ.62 ปรับเพิ่มขึ้นราว 3.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 454.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 5 สัปดาห์ติดต่อกัน