ทิพยประกันภัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมส่งเสริม Ecosystem บูรณาการระบบนิเวศสร้างชุมชนเข้มแข็ง จ.พิษณุโลก

ทิพยประกันภัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย หนุนครูอาจารย์ทั่วประเทศ ร่วมส่งเสริม Ecosystem บูรณาการระบบนิเวศสร้างชุมชนเข้มแข็ง ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการและกล่าวเปิดงาน ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 16 ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดยบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจ กิจกรรมเน้นการเรียนรู้ระบบ Ecosystem การมีส่วนร่วมในชุมชน การเกื้อกูลแบ่งปัน สร้างสมดุลเพื่อความแข็งแรงของชุมชนอย่างยั่งยืน

ปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)  ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี อีกทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจผันผวน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เกิดความไม่มั่นคง การน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับวิถีชีวิตด้วยความพอเพียง Self Sufficiency และการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีความพอกินพอใช้ จนมีฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ต่อยอดไปถึงการรวมตัวสร้างเครือข่าย เพิ่มความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยสามารถอยู่รอดได้

ในงานนี้ยังได้รับฟังการบรรยายภาพรวมของโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จากคุณวรางศิญา กองนิมิตร เจ้าหน้าที่สำนักบริหารโครงการ 4 ซึ่งโครงการนี้ ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะ “กล้วย” พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สู่วิถีความมั่นคง โดย มูลนิธิฯ ดำเนินการด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกล้วยตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ส่งเสริมการผลิตกล้วยตากที่ถูกสุขลักษณะ และการแปรรูป การขยายพันธุ์กล้วย รวมทั้งการผลิตหน่อพันธุ์ดีให้กับเกษตรกร ตลอดจนการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยที่หายาก  อีกทั้งการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน รวมทั้งดำเนินการทดสอบปลูกข้าวพันธุ์ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเสริมมากขึ้น  นอกจากนี้ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง  เป็นการแสดงถึงทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง หรือขั้นที่สาม คือ นอกจากการแปรรูปการเกษตรแล้ว ยังเชื่อมโยงกับกับกิจกรรมการขายและการตลาดในประเทศที่มีความสำคัญ แสดงให้เห็นถึงทฤษฎีใหม่ทั้ง 3 ขั้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ประทานไว้ คือทุกคนสามารถเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งคณะครู อาจารย์ จะได้เรียนรู้และร่วมกันลงมือทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ อาทิ  กิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย      การขยายพันธุ์กล้วย การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกล้วยตาก เป็นต้น

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ที่เราได้ดำเนินมา 15 ครั้งอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นดิน ป่า และสิ่งแวดล้อม สำหรับกิจกรรมในครั้งที่ 16 นี้  เป็นการพัฒนาไปสู่อีกขั้นของการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและ

การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ถือเป็นการสร้าง Ecosystem  ช่วยให้เกษตรกรสามารถรวมตัวกันสร้างรายได้ เกิดความคุ้มค่าด้านต้นทุน สร้างกิจการให้เจริญเติบโต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต Ecosystem คืออีกหนึ่งแนวคิดในการทำธุรกิจหรือโครงการ เป็นทางรอดของทุกคนในยุคนี้ ซึ่งครู อาจารย์ ที่เข้าร่วมโครงการในกิจกรรม สามารถใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้โมเดลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนี้ ไปลงมือทำ นำไปเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ โดยโครงการ “ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด” พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ”

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กล่าวว่า “การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ โดยการพึ่งพาตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดกับปัจจุบัน  การที่ครู อาจารย์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศได้รับโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้ ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เป็นการเสริมบริบทในการที่จะเข้าใจในหลักการพึ่งตนเอง 5 ประการ คือ ด้านจิตใจที่เข้มแข็งมีจิตสำนึกที่ดี ด้านสังคมมีการช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติด้วยการจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ด้านการเลือกใช้เทคโนโลยีและพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิปัญญา และด้านเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากการสามารถบริหารจัดการให้อยู่ได้อย่างพอเพียงแล้ว ยังพัฒนาไปสู่การสร้างพลังจากเครือข่ายในชุมชนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการเตรียมพื้นฐานที่ดี ในการที่เราจะก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนขององค์การสหประชาชาติ UNSDG ได้ภายในปี 2030”

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การลงพื้นที่เรียนรู้         ณ โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านเกาะคู อำเภอบางกระทุ่มจังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่ง ใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ 4,877 โครงการในพระราชดำริ ที่คัดสรรอยู่ใน “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา”  คาดหวังว่าครูอาจารย์และผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่าน จะเกิดความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมคุณธรรม สามารถนำไปขยายผลเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมคุณธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือต่อไป”

นอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ  แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย  อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFSประเทศไทย  ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation