‘ศักดิ์สยาม’ เร่งเครื่อง ‘แลนด์บริดจ์’ สั่ง สนข.พิจารณาแผนพัฒนาระยะยาว ดันเป็นเส้นทางหลักการขนส่งในภูมิภาค

ศักดิ์สยามตามความคืบหน้าผลศึกษาแลนด์บริดจ์สั่ง สนข.พิจารณาแผนแม่บทระยะยาว ดันเป็นเส้นทางหลักการขนส่งสินค้าในภูมิภาค พร้อมประยุกต์ใช้โมเดลท่าเรือต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ ย้ำ! รับฟังความเห็นประชาชนสังคม ประสาน .ทรัพย์ฯ พัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพรระนอง ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า ในแผนการดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว จะต้องมีการศึกษาตัวเลขด้านเศรษฐกิจด้านต่างๆ เกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนรวามถึงรายละเอียดของค่าก่อสร้างให้มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือแลนด์บริดจ์ในประเทศไทยพบว่า โครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย (Transshipment)

ขณะเดียวกัน มีการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บ และกระจายสินค้า เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการในระยะยาว ให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เต็มศักยภาพ โดยอาจจะมองว่าแลนด์บริดจ์ในระยะแรกจะเป็นเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเล แต่เมื่อมีการพัฒนาเต็มศักยภาพแล้ว จะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยให้พิจารณาต้นแบบจากท่าเรือในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ สนข. และที่ปรึกษา ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องศึกษาออกแบบการพัฒนาโครงการต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังกำชับให้ศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตให้รอบด้าน

อีกทั้ง ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับภาคประชาชน และภาคสังคมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมถึงให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย โดยจะต้องประสานข้อมูลไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป