คนกรุงฯ ฉลองรับปีขาล ใช้จ่ายเงินสะพัด 30,500 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เทศกาลปีใหม่ 2565 น่าจะให้ภาพบรรยากาศที่กลับมาคึกคักมากขึ้นกว่าปีก่อนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาล อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายช่วงปีใหม่

โดยยังมีมุมมองที่ระมัดระวังว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากฐานที่ต่ำในช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม) โดยเฉพาะการเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งสินค้าที่น่าจะกลับมาขยายตัวได้จากการใช้จ่ายที่ซบเซาในปีก่อน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเพิ่มยอดขายของธุรกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะการเร่งจัดแคมเปญโปรโมชั่นด้านราคา รวมไปถึงการวางแผนบริหารต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะนี้

ทั้งนี้หลังจากภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามสัญญาณบวกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยและการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านของคนกรุงเทพฯ ให้กลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดว่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปีใหม่ 2565 จะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่เกิดการระบาดหนักในจังหวัดสมุทรสาครและกระจายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ทำให้มีการยกระดับมาตรการป้องกันที่เข้มงวด งดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ดังนั้นภาพรวมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 จึงซบเซากว่าปกติ

โดยประมาณการมูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 รายประเภทกิจกรรมมีรายละเอียดดังนี้ 1) การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มีเม็ดเงินมากที่สุดอยู่ที่ 10,750 ล้านบาทรองลงมาคือ 2) ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,100 ล้านบาท 3) เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,800 ล้านบาท 4) ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,900 ล้านบาท 5) ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,350 ล้านบาท และ 6) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ให้เงินครอบครัว มอบบัตรของขวัญ อยู่ที่ 600 ล้านบาท

สำหรับคนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2565 และออกไปเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้านมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการช้อปปิ้งซื้อสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีผลให้ประชาชนเลือกไปสังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนจะสังสรรค์ที่ร้านอาหารในช่วงปลายปี ซึ่งมาตรการดูแลความสะอาดของร้านและการเข้ารับวัคซีนของพนักงานที่ให้บริการเป็นปัจจัยหลักในการเลือกใช้บริการ