ทอท. ฝันปี 62 ฟันกำไรเกิน 2.5 หมื่นล้าน จ่อบอร์ด 20 ก.พ. เคาะ Duty Free-TER 2

ทอท.เชื่อปีนี้ฟันกำไรทะลุ 2.5 หมื่นล้านบาทรับตลาดท่องเที่ยวคึก เตรียมเสนอบอร์ดปิดจ็อบเคาะประมูลดิวตี้ฟรี 20 ก.พ.นี้ พร้อมด้วยแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ-TER 2

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ทอท.คาดการณ์รายได้ในปี 2562 ของ ทอท.นั้น พบว่าตลาดการบินของไทยปีนี้ ยังมีตัวเลขการเดินทางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงมีสายการบินจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่สล็อตทางการบินในสนามบินหลัก ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตอีกครั้งในปีนี้ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่ารายได้และกำไรในปีนี้ของทอท.จะไม่น้อยไปกว่าเดิมอย่างแน่นอน จากเดิมในปี งบปะมาณ 2561 ทอท.ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ด้านตัวเลขรายได้ 6.2 หมื่นล้านบาท และตัวเลขกำไรอีก 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังลุ้นการรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินต่างๆ ที่ทยอยเปิดบริการและเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีด้วย

ขณะที่ ความคืบหน้าโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free) นั้น แน่นอนแล้วว่าการเปิดประมูลพื้นที่ดังกล่าว จะไม่รวมพื้นที่กับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ดังนั้นหากมีการเปิดประมูลผู้ออกแบบโครงการใหม่นั้น จะไม่กระทบกับการประกวดราคาโครงการนี้อย่างครั้งที่ผ่านมาแน่นอน ขณะนี้ความคืบหน้าการร่างเอกสารขอบเขตการเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ TOR นั้น คืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าจะเสนอ TOR เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้ในการประชุมวันที่ 20 ก.พ.นี้ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป ซึ่งมีกรอบกำหนดเวลาว่าจะต้องลงนามสัญญากับเอกชนภายใน 27 ก.ย. 2562 นี้ หรือประมาณ 1 ปีก่อนที่สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีเดิม จะหมดในเดือน ก.ย. 2563

ขณะเดียวกัน หลังจากกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ตีกลับแผนแม่บทพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมินั้น ทอท.เตรียมเสนอสภาพัฒน์นั้น ได้ยึดตามแผนแม่บทเดิมเกือบทั้งหมด คือ แบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ตั้งแต่ทิศเหนือลงใต้ พร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ เชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารทั้งสองฝั่ง แต่เนื่องจากแผนแม่บทฉบับล่าสุด ได้ขอเพิ่มการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สอง(TER 2) วงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสนามบินแออัด เพิ่มหลุมจอด และเพิ่มระบบ รวมถึงเทคโนโลยีงานบริการ อาทิ สายพานลำเลียงกระเป๋า พร้อมทำการอัพเดทข้อมูลความเชื่อมโยงของโครงข่ายคมนาคมไว้เรียบร้อยแล้ว

“ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขจริงนั้นกระโดดไปถึง 60 ล้านคน หากยังไม่แก้ปัญหาความแออัดในวันนี้จะส่งผลต่อคุณภาพบริการ (Level of Service) ในอนาคต ดังนั้นการพัฒนาTER2 ควบคู่ไปกับรันเวย์ที่สามจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30-60 ล้านคนภายในไม่กี่ปีนับจากนี้ เพื่อรองรับการก่อสร้างเฟสต่อไป คือ อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 2 (SAT 2) และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (TER 3) ด้านทิศใต้ของสนามบิน แต่ตัวเลขขีดความสามารถรองรับทั้งหมดจะเป็น 120 ล้านคนหรือ 150 ล้านคนนั้นอยู่ระหว่างสรุปความคิดเห็นของผู้ประกอบการแบะบริษัทสายการบิน ดังนั้นจึงควรพัฒนาอาคารฝั่งทิศตะวันตก (West-wing) วงเงิน 6.6 พันล้านบาท ควบคู่กับก่อสร้าง TER 2 เพื่อเปิดใช้ไล่เลี่ยกันพร้อมกับเพิ่มหลุมจอดและเทคโนโลยีบริหารจัดการสนามบิน” นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย ยังกล่าวถึงปัญหาในการพัฒนาขยายอาคารฝั่งตะวันออก (East-Wing) ว่า จะส่งผลต่อความแออัดของการจราจรระหว่างก่อสร้างจนอาจทำให้เกิดรถติดจำนวนมากทั้งยังไม่สามารถเพิ่มความจุการรองรับผู้โดยสารได้เท่ากับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่อีกด้วย สำหรับแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมดนั้น ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการ ACC (Airport Consultative Committee) ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายสนามบิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน และผู้ประกอบการ รวมถึงสายการบิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้ ว่ารูปแบบการพัฒนาควรจะออกมาเป็นอย่างไร และข้อมูลสรุปสุดท้ายจะมีตัวเลขที่สะท้อนความเหมาะสมมากแค่ไหน ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม บอร์ด ทอท.ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ซึ่งจะรวมถึงแผนปรับแบบก่อสร้างอาคาร TER 2 ด้วยว่าจะมีข้อเสนอการปรับแบบมากน้อยแค่ไหน หากมีการปรับแบบจำนวนมาก เช่น การเชื่อมสายพานลำเลียงกระเป๋ากับอาคารผู้โดยสารเดิม หรือการทำทางเดินเชื่อมอาคารแทนการติดตั้งระบบ APM เป็นต้น หากมีการปรับแบบอย่างมีนัยยะสำคัญคงต้องยกเลิกผลประมูลการคัดเลือกผู้ออกแบบรายเดิมคือกลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค แล้วทำการเปิดประมูลใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อเสนอของสภาพัฒน์ที่ต้องการให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาความเหมาะสมแผนพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานสุววรณภูมินั้น ขอยืนยันว่าการพัฒนาสนามบินต้องดำเนินการไปตามเฟสที่วางไว้ ตั้งแต่ทิศเหนือลงไป เพื่อก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 และรันเวย์ที่ 4 ให้ได้ตามแผนแม่บท โดยการพัฒนาดังกล่าวนั้น จะเป็นการเพิ่มหลุมจอดและมีการลงทุนระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) เชื่อมต่อระหว่างอาคารแต่ละแห่ง ไปจนถึงเชื่อมต่ออาคารทิศใต้และเหนือ เพื่ออำนวยความสะดวกความไหลลื่นของผู้โดยสารในฝั่งเขตการบิน (Airside) ส่วนคำถามที่ว่าจะสามารถไปสร้างอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ไว้ด้านทิศใต้แบบสแตนด์อะโลนนั้น ทำได้เลยหรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดขณะนี้ นายนิตินัย ระบุว่า คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เปิดใช้อาคาร SAT 1, SAT 2 แลพ APM ใต้ดิน ดังนั้นหากแยกอาคารผู้โดยสารสองฝั่งเป็นภายในประเทศและภายนอกประเทศ จะพบว่ามีความยุ่งยากด้านการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ด้านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนด้านการบินต่อไฟลท์ (Transit Flight) อีกทั้งยังเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาระบบขนส่งอย่างรถโดยสารเชื่อมต่ออาคารทั้งสองฝั่ง เพราะมีความห่างค่อนข้างไกล อีกทั้งยังอยู่ติดถนนสายหลักที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น คือ ถนนบางนา-ตราด และถนนลาดกระบัง-รามคำแหง