‘ศักดิ์สยาม’ ปล่อยขบวน ‘รถแท็กซี่’ ติดฉากกั้นระหว่าง ‘คนขับ-ผู้โดยสาร’ สร้างความเชื่อมั่นสกัดโควิด-19 ประเดิมติดตั้งครบ 3,000 คันภายใน ต.ค.นี้ จ่อขยาย 9 หมื่นคันในอนาคต
“ศักดิ์สยาม” กดปุ่มปล่อยขบวน “รถแท็กซี่” ติดฉากกั้น “อะคริลิกใส” ภายในห้องโดยสาร กั้นระหว่าง “คนขับ–ผู้โดยสาร” ป้องกันโควิด-19 นำร่องครบ 3,000 คัน ภายใน ต.ค.นี้ ประเมิน 30 วัน ก่อนขยายผลครอบคลุม 9 หมื่นคันต่อไป ยันค่าโดยสารใช้อัตราเดิม ยกระดับความปลอดภัยในชีวิต–ทรัพย์สินแบบNew Normal รองรับการเปิดประเทศในอนาคต แจ้งผู้โดยสารหากต้องการใช้บริการ มองหาสติ๊กเกอร์ติดระบุไว้หน้ารถ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 กันยายน 2564) เวลา 11.00 ณ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ปล่อยขบวนรถแท็กซี่ติดฉากกั้นแบบ New Normal” ภายใต้โครงการยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน
โดยรถแท็กซี่ ที่ติดตั้งฉากกั้นอะคริลิกใสภายในห้องโดยสาร พร้อมออกให้บริการประชาชนในอัตราค่าโดยสารปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ให้แก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวตามมาตราการสาธารณสุขเพื่อป่องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถแท็กซี่ซึ่งเป็นการขนส่งสาธารณะที่ผู้ขับรถและผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการ เจ้าของรถ และผู้ขับรถแท็กซี่ เนื่องจากประชาชนขาดความมั่นใจ
จากประเด็นปัญหาต่างๆ จึงต้องคิดนวัตกรรมมาช่วยเหลือเยียวยาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะในยุค New Normal รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณามาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ขับรถแท็กซี่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ขบ. สนองรับนโยบายดังกล่าว และดำเนินการโครงการยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน โดยทำการติดตั้งฉากกั้นระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร เพื่อป้องกันละอองฝอยจากการพูดคุย ไอ จาม ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการใช้บริการรถสาธารณะอีกด้วย โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) มาดำเนินการโครงการดังกล่าว
สำหรับในระยะแรกจะนำร่องติดตั้งฉากกั้นในรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,000 คัน ประกอบด้วย รถแท็กซี่นิติบุคคลจากสมาคม สหกรณ์ต่างๆ และรถแท็กซี่บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าว จากแท็กซี่ทั้งหมดประมาณ 90,000 คัน โดยวิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบันประมาณ 20,000 กว่าคัน ทั้งนี้ จากการทดลองได้เข้าไปนั่งในห้องโดยสาร พบว่า ช่วยป้องกันละอองจากการพูดคุย ไอ จาม ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากการดำเนินการดังกล่าว ได้ผลตอบรับที่ดี และจะประเมินผลการดำเนินการระยะเวลา 30 วันก่อนที่จะขยายผลต่อไป
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าการติดตั้งฉากกั้นตามโครงการดังกล่าวนอกจากลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างผู้ขับรถและคนโดยสารภายในรถแท็กซี่แล้ว ยังช่วยให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ขับรถหรือคนโดยสารรถแท็กซี่ เสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการใช้บริการรถสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว ผู้ขับรถแท็กซี่ก็สามารถประกอบอาชีพได้ภายใต้มาตรการ Social distancing แบบ New normal รองรับการเปิดประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมต่อไป
ในส่วนมาตรการเยียวยากลุ่มรถแท็กซี่ จากการได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ในขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณางบประมาณเยียวยาแท็กซี่ และคาดว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป นอกจากนี้ ภายในรถโดยสาร ยังมีพื้นที่สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแท็กซี่ด้วย
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าวว่า โครงการนี้ กรมการขนส่งทางบกได้รับความร่วมมือจาก เอสซีจีเคมิคอลส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้นำความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์มาผลิตและออกแบบฉากกั้นอะคริลิกใสคุณภาพสูงภายในห้องโดยสาร ซึ่งออกแบบให้ติดตั้งได้ง่ายเหมาะกับรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งรถแท็กซี่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ไม่บดบังทัศนวิสัย และไม่กระทบต่อการทำงานหรือการใช้งานระบบหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ของรถ
โดยเริ่มทยอยติดตั้งฉากกั้นให้กับรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งครบทั้งหมด 3,000 คัน ภายใน ต.ค. 2564 นี้ สำหรับรถที่ติดตั้งฉากกั้นจะแสดงเครื่องหมายบริเวณกระจกด้านหน้ารถ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ในอัตราค่าโดยสารเท่ากับแท็กซี่ทั่วไป และกรมการขนส่งทางบกจะติดตามประเมินผลความพึงพอใจของผู้โดยสารที่ใช้บริการผ่าน QR Code ที่ติดไว้ที่ฉากกั้นในรถแท็กซี่ทุกคัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาขยายผลต่อไป
ขณะที่ นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้าใจในสถานการณ์ความยากลำบากของผู้ประกอบการแท็กซี่ รวมทั้งมีความห่วงใยต่อสุขอนามัยของผู้ขับรถ และประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งการเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสารกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหาทางออกเพื่อยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้รถโดยสารสาธารณะ โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้นำนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญด้านอะคริลิกใสจากแบรนด์ชินโคไลท์ (SHINKOLITE) มาพัฒนาต่อยอดจนได้ฉากกั้นอะคริลิกใสคุณภาพสูงสำหรับติดตั้งภายในห้องโดยสารรถยนต์
ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับ ขบ. จัดทำฉากกั้นเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสารสำหรับรถแท็กซี่ ช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสละอองฝอยภายในห้องโดยสาร ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Double Protection ซึ่งโดยปกติทั้งผู้ขับรถและผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองอยู่แล้ว
โดยเชื่อมั่นว่าโครงการยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนของกรมการขนส่งทางบกในครั้งนี้ จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการเดินทางในยุค New Normal และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดประเทศของภาครัฐในอนาคต
สำหรับฉากกั้นอะคริลิกใสคุณภาพสูงในห้องโดยสารที่ติดตั้งให้กับรถแท็กซี่ในโครงการฯ มีจุดเด่นที่ความใสคล้ายกระจกทำให้คงทัศนียภาพการมองเห็น ไม่รู้สึกอึดอัดขณะโดยสาร ออกแบบให้รองรับการใช้งานในรถยนต์หลายรุ่นน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่าย ปลอดภัย คงทนต่อสภาพอากาศ และสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายด้วยผ้าขนอ่อน ชุบน้ำเปล่า น้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% สามารถทำความสะอาดได้บ่อยตามต้องการ