เช็คเลย! ‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะประชุม คจร. ไฟเขียวหลายโปรเจ็กต์ ‘คมนาคม’ ครอบคลุมทุกโหมดการเดินทาง

คจร. ไฟเขียวแผนแม่บทขนส่งสาธารณกลุ่ม “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” รองรับการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมเห็นชอบ MR-Map 10 เส้นทางทาง ระยะทาง 6,530 กม. ประเดิมนำร่อง 4 เส้นทาง ระยะทาง 1,075 กม. เชื่อมระบบโลจิสติกส์ไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน พ่วงอนุมติระบบ Feeder รถไฟสายสีแดงเข้าสู่ “สถานีรังสิต” 3 เส้นทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันนี้ (20 ก.ย. 2564) ว่า การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR-Map ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดทำร่างโครงข่ายเส้นทางเบื้องต้น 10 เส้นทาง โดยมีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย เส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กม. เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1,710 กม. และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กม. และได้พิจารณาโครงการนำร่องที่มีศักยภาพ 4 เส้นทาง ระยะทาง 1,075 กม. จากแนวเส้นทางโครงข่ายในเบื้องต้น จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่

  1. เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 91 กม.
  2. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กม.
  3. เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กม.
  4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 404 กม.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณาการระหว่างระบบรางและถนนในการพัฒนาโครงข่ายให้เป็นระบบเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้า แก้ปัญหาจราจร ลดปัญหาการเกิดคอขวดของการเดินทางทั้งระบบถนนและระบบรางของทั้งประเทศ

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของการจัดทำระบบ Feeder รถไฟฟ้าสายสีแดง โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) จ.ปทุมธานี และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้ จ.ปทุมธานี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และรายงานผลการดำเนินการให้ คจร.รับทราบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • เส้นทางระบบ Feeder เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้ารังสิตจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายก (ทล.305) ระยะทางประมาณ 19.3 กม. 2.เส้นทางที่ 2 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กม. เป็นระยะแรกก่อน หากสถานีรถไฟฟ้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) เปิดใช้ ก็พิจารณาปรับเส้นทางต่อไป และ 3.เส้นทางที่ 3 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 10.6 กม.
  • รูปแบบการเดินรถของระบบ Feeder ตามตารางเดินรถที่สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า (On Schedule Services) รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) และรองรับการให้บริการกับทุกคน (Inclusive Transport) และให้ ขบ. ดำเนินการหาผู้ประกอบการเดินรถด้วยมาตรฐาน EV รองรับผู้พิการ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางต่อไป
  • ให้ จ.ปทุมธานี และ ทล. ดำเนินการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเส้นทาง ดังนี้ เส้นทางที่ 1 บนถนน ทล.305 ได้แก่ (ก) Smart Bus Stop (ข) ทางเชื่อมสะพานลอยคนข้ามที่เกาะกลาง (ค) ช่องทางพิศษ (Reversible Bus Lane) และ (ง) สัญญาณไฟควบคุมช่องทางพิเศษ และเส้นทางที่ 2 และ 3 บนถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน ได้แก่ Smart Bus Stop

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนแผนต่างๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คจร. ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญตามมติที่ประชุม คจร. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต 2.การดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) 4.การปฏิรูปเส้นทางระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง 5.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว และ 6.แผนการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ปีงบประมาณ 2564 ตลอดจนความคืบหน้าการศึกษาการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ 1.งานบริหารจัดการระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow 2.งานศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบ 3.โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย

และ 4.โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (ยังไม่มีการก่อสร้าง) ประกอบด้วย โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและส่วนทดแทนตอน N1 โครงการทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและส่วนทดแทนตอน N1 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้วช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว และโครงการถนนยกระดับกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 2)