‘ทางหลวง’ รับลูก ‘ศักดิ์สยาม’ เตรียมพร้อมรับมือ ‘อุทกภัย’ สั่งหน่วยงานทั่วประเทศเฝ้าระวัง 24 ชม.

ทางหลวงสนองข้อสั่งการศักดิ์สยามเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝน สั่งหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ วางมาตรการ 3 ขั้นตอน เฝ้าระวัง 24 ชม. อำนวยความสะดวกการเดินทางประชาชน เน้นย้ำมีประสิทธิภาพปลอดภัย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมมาตรการรับมืออุทกภัยและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้รายงานการดำเนินการมายังกระทรวงคมนาคมทันที เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัยนั้น

ทั้งนี้ ทล.ได้ขานรับข้อสั่งการดังกล่าว โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทล. ทั้งสำนักบริหารบำรุงทาง สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวง ศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ช่วงฤดูฝน 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.ขั้นการป้องกัน/เตรียมพร้อม (ก่อนเกิดภัย) ให้พร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักรและบุคลากรตลอด 24 ชั่วโมงและรายงานสถานการณ์เป็นระยะๆ เตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของถนนและสะพาน ทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชที่ขวางทางระบายน้ำ ตรวจสอบกิ่งไม้ต้นไม้บริเวณเขตทางที่คาดการณ์ว่าจะล้มทับทาง รวมถึงต้นไม้ยืนต้นที่ตายแล้วให้รีบดำเนินการตัดออกทันที พร้อมกำชับหน่วยงานส่วนภูมิภาคประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานอื่นๆ หรือประชาชน

2.ขั้นการรับเหตุ (ขณะเกิดภัย) มอบให้สายด่วนกรมทางหลวง 1586 เตรียมพร้อมสำหรับให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนในการโทรสอบถามเส้นทางและขอความช่วยเหลือ  พร้อมทั้งให้หน่วยงานพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามรายงานข้อมูลสาธารณะภัย และหากกรณีน้ำท่วมสูงให้เร่งดำเนินการติดตั้งป้ายเตือน สำหรับกรณีถนน/สะพานขาดให้เร่งลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์เชื่อมทางหรือดำเนินการถมวัสดุ

ส่วนกรณีดินไหล่เขาข้างทาง Slide ให้เร่งนำเครื่องจักรเข้าเกลี่ยดินออกจากเส้นทาง ในกรณีเกิดต้นไม้ล้มทับทางขอให้เคลื่อนย้ายโดยเร็วที่สุด พร้อมอำนวยความปลอดภัย งานปรับซ่อม งานไฟฟ้า ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และให้ความช่วยเหลือเครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะกับหน่วยงานอื่นๆ  พร้อมจัดทำแผนที่ทางเลี่ยงเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ และให้รายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมภาพถ่ายการดำเนินการจนกว่าเหตุการณ์จะยุติ

3.ขั้นการฟื้นฟู (หลังเกิดภัย) ให้หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบเร่งฟื้นฟู แก้ไขเหตุ ซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดเสียหายให้พร้อมใช้งานโดยเร็วที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับประชาชน

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ทล.ได้ดำเนินการสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงและเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ  และช่วงหน้าฝนนี้บางพื้นที่ต้องประสบกับพายุฤดูร้อน เกิดลมกระโชกแรง อาจจะทำให้ต้นไม้หักโค่นและทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางได้  จึงมอบให้หน่วยงานในสังกัด เร่งลงพื้นที่ตัดแต่งกิ่งไม้ต้นไม้ที่สุ่มเสี่ยงล้มลงถนนเพื่อป้องกันการหักโค่นขีดขวางทางจราจรหรือล้มทับรถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมา

นอกจากนี้ ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังและรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าระบบบริหารงานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของกรมทางหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปกติ รวมถึงให้ติดตามการเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ทล.ขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้เส้นทางในช่วงฤดูฝนนี้ขอให้ระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่คาดว่าจะเกิดความสุ่มเสี่ยง พร้อมขอให้ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และหากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)