‘ถาวร’ ตามงาน ทย. สั่งเร่งเบิกจ่ายงบฯ วางแนวทางงบปี 64-65 พร้อมเบรกโอน 3 สนามบินให้ ทอท. แนะพิจารณาให้รอบคอบ
“ถาวร” ตรวจงาน ทย. สั่งเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯ วางแนวทางงบปี 64-65 เน้นลุยงานตาม Action Plan สนองยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมแนะปมโอน 3 สนามบินให้ ทอท. ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ฟากเปิดบินเบตง คาดภายใน ก.พ.64
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจราชการและติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ได้ติดตามงานของ ทย. ที่เคยได้มอบนโยบายในเรื่องของการบริหารงานงบประมาณประจำปี 2563 โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายฯ เนื่องจากยังมีโครงการที่ยังไม่ได้มีการลงนามผูกพัน ลงนามสัญญา จึงมีการติดตามว่าล่าช้าจากส่วนใดบ้าง จึงได้ขอให้ทาง ทย.เร่งดำเนินการ และได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบประมาณตั้งแต่ปี 2557-2562 จำนวน 12 โครงการ งบประมาณ 228 ล้านบาท โดยได้สั่งการให้ ทย.จัดตั้งคณะทำงานถึงเหตุผลว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด รวมถึงจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคู่เพื่อร่วมพิจารณากรณีดังกล่าวด้วย
ขณะที่ ในส่วนของงบประมาณจำปี 2564 นั้น จะมีการเน้นปฎิบัติงานตามแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องมีความชัดเจนเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายกระทรวงฯ และการจัดซื้อตัดจ้างที่ถูกต้องตามสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทบทวน ถอดบทเรียน ปัญหาอุปสรรคการจัดซื้อจัดจ้างจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา มีระบบติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณแบบเร่งด่วน เพื่อการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์การวิเคราะห์ความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้ความคืบหน้าและระดับความสำเร็จนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ เนื่องจากมีหลายครั้งที่มีการแก้สัญญาเกิดจากแบบที่ไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ ทย.พิจารณาโครงการของหน่วยงาน โดยเพิ่มเรื่องการก่อสร้างการจัดทำร่างเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) และหารือกรมบัญชีกลาง หรือฝ่ายยุทธศาสตร์กระทรวงฯ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ก็จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และขอให้มีการกระจายงบประมาณในการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกสนามบินภายใต้สังกัด ทย.ด้วย
นายถาวร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการโอนย้ายท่าอากาศยานในกำกับให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ล่าสุดทางคณะทำงานได้พิจารณาเสนอท่าอากาศยานกระบี่ บุรีรัมย์ และชุมพร ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงคณะทำงานว่า น่าจะลงทุนในสนามบินที่ขาดทุนหรือมีรายได้น้อยกว่า เนื่องจากท่าอากาศยานกระบี่เป็นท่าอากาศยานที่สร้างรายได้ให้แก่ ทย. จึงได้ขอให้คณะทำงานพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงพิจารณาเรื่องหลักกฎหมายและความเท่าเทียม เพราะสนามบินของ ทย.ที่ผ่านมาจะดูเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้กังวลเรื่องผลตอบแทนด้านการเงิน พร้อมมั่นใจว่า กรมท่าอากาศยานมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถบริหารงานได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของท่าอากาศยานเบตงนั้น ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการมาเพื่อพิจาณาแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาตการนำร่อนเครื่องบินขึ้นลง จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยต้องการให้เปิดให้บริการได้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีสาบการบินที่ให้ความสนใจบางกอกแอร์เวย์สและนกแอร์ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการขอลดหย่อนและสิทธิพิเศษบางประการ แต่คาดว่า จะเปิดให้บริการในอีก 1-2 เดือน หรืออย่างช้าในเดือน ก.พ. 2564
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งส่วนของผู้ประกอบการสายการบินและคู่สัญญาอาคารฯ ได้มอบหมายให้ ทย.พิจารณาเยียวยาให้เหมาะสมสอดคล้องกับการบริหารจัดการงบประมาณการให้ความช่วยเหลือของ ทย. ได้แก่ 1.การปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และที่จอดอากาศยาน (Landing & Parking Fee) สำหรับผู้ประกอบการสายการบิน ลง 50% ในช่วงเดือน เม.ย.- ธ.ค. 2563 2.ลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน 50% เฉพาะกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากผู้โดยสารลดลงโดยตรง ที่มีการปรับอัตราค่าเช่าไปแล้ว เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค. 2563
3.ปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทุกรายในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2563 และ4.ขยายระยะเวลาการชำระเงินในการทำสัญญาเช่าของผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทุกราย ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 รวมถึงสั่งการให้มีการเข้มงวดตามมาตรการป้องการและควบคุมโรคตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทุกสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย.