‘คมนาคม’ กางแผนของบปี 65 วงเงิน 6.29 แสนล้าน ‘ทางหลวงฯ’ เยอะสุด ชงขอ 3.84 แสนล้าน พุ่งเป้าเสริมแกร่งความปลอดภัย

“คมนาคม” ลุยของบปี 65 กว่า 6.29 แสนล้าน รอสะเด็ดน้ำ ก่อนเสนอสำนักงบฯ ม.ค. 64 “ศักดิ์สยาม” มอบการบ้านหน่วยงาน เก็บตกโปรเจกต์ให้ครบ ด้าน ทล. จัดหนัก ชงขอ 3.84 แสนล้าน ลุยสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผุด 3 โครงการใหม่มุ่งเน้นเสริมแกร่งความปลอดภัย พร้อมเตรียมเสนอ “คมนาคม” เคาะ 23 บิ๊กโปรเจ็กต์งบเกินพันล้าน รวม 5.5 หมื่นล้าน ช่วงต้นเดือนนี้ ก่อนส่งไม้ต่อ ครม.ไฟเขียวภายในสิ้นปี 63

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ในเบื้องต้นของของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย ส่วนราชการ 8 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ วงเงิน 6.29 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 5.05 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.24 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมจัดทำคำของบประมาณฯ อีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปคำของบประมาณเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาภายใน ม.ค. 2564

ทั้งนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นหน่วยงานทางบกที่เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 3.84 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เสนอขอรับจัดสรรวงเงิน 8.21 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ นั้น ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 5.77 พันล้านบาท, กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 1.90 หมื่นล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 1.22 หมื่นล้านบาท, กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงิน 264 ล้านบาท, สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 655 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 1.06 พันล้านบาท

ในส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบฯ อยู่ที่วงเงิน 6.61 หมื่นล้านบาท, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 4.76 หมื่นล้านบาท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 1.27 พันล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 8.30 พันล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 491 ล้านบาท

“วงเงินคำขอดังกล่าว อาจต้องมีการปรับเพิ่มอีกเล็กน้อย เนื่องจากพบว่าโครงการต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานเสนอมานั้น ยังมีบางเรื่องที่ตกหล่นอยู่ เช่น จท. ได้มอบให้ไปจัดทำแผนและงบประมาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันการบุกรุก และรุกล้ำลำน้ำ รวมถึงชายฝั่ง เพราะทุกวันนี้พบว่ามีการบุกรุกลำน้ำจำนวนมาก แต่ยังไม่เห็นการดำเนินการเรื่องนี้ที่ชัดเจน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบให้ ทย. พิจารณาศักยภาพท่าอากาศยานทุกแห่งว่า มีพื้นที่ส่วนใดสามารถทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้บ้าง และจะดำเนินการรูปแบบใด โดยให้จัดทำแผนให้ชัดเจน รวมถึงเสียดายงบประมาณที่สร้างท่าอากาศยานขึ้นมาแล้ว แต่ใช้งานไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายว่า การสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ จะต้องบูรณาการกับระบบโลจิสติกส์ด้วย ซึ่งในอนาคตท่าอากาศยานต้องอยู่ใกล้ และสอดคล้องกับโครงการในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ (MR-MAP) ขณะเดียวกันมอบให้ ขบ. พิจารณามาตรการสนับสนุนรถที่ใช้ไฟฟ้า (EV)

ขณะเดียวกัน เช่นเดียวกับ รฟท. ได้มอบให้ไปพิจารณานำรถไฟแบบอีวีมาใช้ในไทย โดยให้ดูต้นแบบจากต่างประเทศ ที่ทำเป็นตู้แบตเตอรี่พ่วงกับขบวนรถไฟ เท่าที่ทราบแบตเตอรี่ 1 ตู้ ลากจูงรถไฟได้ 400 กิโลเมตร (กม.) และยังมอบให้ รฟม. พิจารณาว่า สามารถนำระบบดังกล่าว มาใช้กับรถไฟฟ้าทั้ง 14 เส้นทางได้หรือไม่ หากทำได้จะช่วยลดงบประมาณการก่อสร้างได้มาก

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สำหรับงบประมาณปี 2565 นั้น ทล.ได้เสนอกรอบวงเงินเพื่อขอรับจัดสรรฯ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอยู่ที่วงเงิน 3.84 แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมถึงเป็นไปตามข้อแนะนำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ ทล.จะต้องพิจารณาในเรื่องการแก้ปัญหาจราจรในภาพรวม ดำเนินการตามข้อสังเกตของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

นอกจากนี้ โครงการต่างๆ นั้น จะต้องมีความพร้อมในการดำเนินการ เช่น การออกแบบ การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ รวมถึงเดินหน้าโครงการจุดพักรถต่างๆ ที่สามารถใช้งานและใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ทล. เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณารายละเอียดภายในกลาง ธ.ค. 2563 ขณะเดียวกัน เตรียมสรุปโครงการที่มีงบประมาณการก่อสร้างเกิน 1,000 ล้านบาท รวม 23 โครงการ วงเงินรวม 5.5 หมื่นล้าน เสนอไปยังกระทรวงฯ ในช่วงต้น ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการการขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี

สำหรับโครงการที่มีงบประมาณการก่อสร้างเกิน 1,000 ล้านบาท ที่ ทล.จะขอรับการจัดสรรงบปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขยายช่องจราจร จาก 2 ช่องจราจรไป-กลับ เป็น 4 ช่องจราจรไป-กลับ เช่น ทางหลวงหมายเลข 11 สายแยกอินทร์บุรี-อ.สากเหล็ก วงเงิน 1,300 ล้านบาท, สายฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว วงเงิน 1,250 ล้านบาท, สายเชียงใหม่-แม่จันทร์ วงเงิน 1,200 ล้านบาท, สาย อ.จอมพระ-บ้านไทรงาม วงเงิน 1,500 ล้านบาท, สายหล่มเก่า-เลย วงเงิน 2,000 ล้านบาท, สายยโสธร-กุดชุม วงเงิน 1,200 ล้านบาท, สายบ้านน้ำยืน-บ้านหาดยาย จ.ชุมพร วงเงิน 1,400 ล้านบาท, สายนราธิวาส-สุไหงโก-ลก วงเงิน 1,050 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการใหม่ในปี 2565 ทล.จะมุ่งเน้นโครงการที่มีความจำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการป้องกันอุบัติเหตุแยกวัดใจ บริเวณถนนทางหลวงที่ตัดกับถนนของหน่วยงานอื่น เช่น กรมทางหลวงชนบท (ทช.) องค์บริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถนนเลียบคลองชลประทานของกรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นต้น ที่มีประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ และมักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

2.โครงการป้องกันเหตุดินสไลด์ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากถนนของ ทล. ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วจะตัดผ่านภูเขา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่อาจจะทำให้ 2 ข้างทางเกิดดินสไลด์ได้ เช่น บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 1095 สายหนองโค้ง–แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินระหว่างอ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน วงเงินประมาณ 400 ล้านบาท, ถนนทางหลวงหมายเลข 1081 สายท่าวังผา-ทุ่งช้าง จ.น่าน รวมถึงเส้นทางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ เขาค้อ ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ภาคใต้ จ.ชุมพร-จ.ระนอง เป็นต้น และ 3.โครงการขยายไหล่ทางในเส้นทางถนนแคบ มี 2 ช่องจราจรไป-กลับ ที่ไม่มีไหล่ทาง หรือมีไหล่ทางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทาง