‘คมนาคม’ หารือ ‘คณะ กก.ประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติ’ จ่อถกอัปเดตเส้นทางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ‘กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์’ พรุ่งนี้ (6 พ.ย. 63)

“คมนาคม” หารือ “คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติ” ครั้งที่ 2 วางกรอบความตกลงอาเซียน จ่อถกความคืบหน้าเส้นทางขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์” พรุ่งนี้ (6 พ.ย. 63)

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 ว่า ในการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น กรมเจ้าท่า (จท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้แทนจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบและร่วมพิจารณาประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย สถานะของการให้สัตยาบันกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกอาเซียน ปัจจุบันมีการจัดทำกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (AFAFGIT) ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศลงนามและให้สัตยาบันแล้ว 2.กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน (AFAFIST) ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศลงนามแล้ว ส่วนการให้สัตยาบันเหลือบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซียยังไม่ให้สัตยาบัน

3.กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (AFAMT) ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศลงนามแล้ว ส่วนการให้สัตยาบันเหลือบรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ยังไม่ให้สัตยาบัน และ 4.กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนโดยยานพาหนะทางถนน (CBTP) ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศลงนามแล้ว โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2562 เหลือบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามยังไม่ให้สัตยาบัน

ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ASEAN Framework Agreement on Multimodal Transport: AFAMT) นั้น ประเทศไทยโดยกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือ MTO ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการนำร่องการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน

ทั้งนี้ หลังจากแต่งตั้งคณะทำงานฯ ได้จัดการประชุมร่วมทางไกล 2 ครั้ง ระหว่างไทย เวียดนาม สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และผู้แทนโครงการ ASEAN Regional Integration Support by the EU (ARISE Plus) ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันกำหนดเส้นทางการดำเนินโครงการนำร่อง MTO ระหว่างกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ โดยได้เริ่มขนส่งแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2563 และจะจัดประชุมฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 พ.ย. 2563 เพื่อติดตามความคืบหน้าจากการดำเนินโครงการและเชิญ MTO ของแต่ละประเทศที่ร่วมโครงการเข้าประชุมด้วย

นายชยธรรม์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินการและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมการเดินรถจริง (Full Live Operation) ภายใต้โครงการระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งเพื่อรับใบอนุญาตรถสินค้าข้ามแดนอาเซียน (AGVCBP) ภายใต้โครงการ ACTS โดยภายหลังจากที่ได้รับการแจ้งยืนยันอย่างเป็นทางการถึงความพร้อมของประเทศสมาชิก รวมถึงเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ดีขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะเร่งดำเนินการคัดเลือกและออก AGVCBP ให้แก่ผู้ประกอบการโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ การแก้ไขบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาโครงการโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (Ministerial Understanding (MU) on the Development of AHN Project) ซึ่งกรมทางหลวงมีประเด็นเสนอแก้ไขรายละเอียดของภาคผนวก A เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของทางหลวงอาเซียนในประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กรมทางหลวงรอความชัดเจนการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้บูรณาการร่วมกับระบบราง หรือ MR-MAP ก่อนดำเนินการต่อไป ส่วนภาคผนวก B เป็นประเด็นทางเทคนิคด้านวิศวกรรมงานทาง กรมทางหลวงจึงจะนำประเด็นดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป