ราคาน้ำมันดิบคาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโอเปกเตรียมแผนลดกำลังการผลิต

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19-23 พ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุน หลังกลุ่มโอเปกมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปี 2562 เพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับ อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังหมดช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน จากการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีการหารือถึงการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี 2562 ลง 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับการผลิตในเดือน ต.ค. เพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ หลังมองว่าปริมาณน้ำมันดิบอิหร่านที่ปรับลดลงจากผลของการคว่ำบาตรนั้นน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน สามารถนำเข้าน้ำมันดิบได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร โดยกลุ่มโอเปกจะกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันดิบสำหรับปี 2562 ในการประชุมที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 ธ.ค.61 นี้
  • การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกคาดว่าจะปรับลดลง หลังกลุ่มโอเปกเปิดเผยการคาดการณ์ประจำเดือน พ.ย.61 ว่าอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2562 จะเติบโตที่ 1.29 ล้านบาร์เรล/วัน ปรับลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ราว 70,000 บาร์เรล/วัน และนับเป็นการปรับการคาดการณ์ลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยกลุ่มโอเปกคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะมีปริมาณสูงกว่าอุปสงค์น้ำมันดิบของโลกในปีหน้า
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่า ปริมาณน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบชั้นหินดินดาน (Shale Oil) 7 แหล่ง ในประเทศสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นราว 113,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 7.94 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ธ.ค.61 โดยได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งน้ำมันดิบ Permian ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 63,000 บาร์เรล/วัน แตะระดับ 3.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ธ.ค.61
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดที่ 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ EIA รายงานว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 พ.ย.61 ปรับเพิ่มขึ้นราว 3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 442 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังโรงกลั่นกลับมาดำเนินการ ภายหลังช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
  • อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านอาจไม่ได้ปรับตัวลดลงมากอย่างที่คาดไว้ ล่าสุด ปริมาณการส่งออกน้ำม้นดิบของอิหร่านปรับตัวลดลงเพียง 1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงถึง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยอิหร่านระบุว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจนเหลือศูนย์ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับตัวเพิ่มสูงเกินไป หากอุปทานจากอิหร่านขาดหายไป ประกอบกับ อิหร่านยังมีเส้นทางอื่นในการส่งออกน้ำมันดิบที่ไม่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-16 พ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.73 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 56.46 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 66.76 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 67 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังทรัมป์ทวีตข้อความว่า กลุ่มโอเปกจะไม่ปรับลดกำลังการผลิตลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุน หลังกลุ่มโอเปกมีทีท่าที่จะลดกำลังการผลิตลง นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียจะลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค.61 ลง 500,000 บาร์เรล/วัน จากปริมาณการส่งออกในเดือน พ.ย.61