‘สรพงศ์’ ปธ.บอร์ด บขส. คนใหม่ ประกาศลุยภารกิจพลิกฟื้น บขส. ให้มีกำไร หลังโควิด-19 ทำ ผดส.หาย 60% จ่อเสนอทบทวนมติ ครม. ให้ขนส่งพัสดุภัณฑ์ได้

“สรพงศ์” ปธ.บอร์ด บขส. คนใหม่ ประกาศลุยภารกิจพลิกฟื้น บขส. ให้มีกำไร สร้างความเข้มแข็งองค์กร เน้นสร้างรายได้-จัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เตรียมเสนอทบทวนมติ ครม. ให้ บขส.สามารถขนส่งพัสดุภัณฑ์ มั่นใจช่วยสร้างกำไรได้ พร้อมเผยโควิด-19 ฉุดผู้โดยสารหาย 60%

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามทีี่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บขส. ได้เข้าพบเพื่อขอให้ช่วยดูในเรื่องของสภาพการจ้างงานทั้งหมด และการบริหารกิจการ เนื่องจากผลประกอบการลดลง จากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารในภาพรวมลดลง จากก่อนช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 เฉลี่ย 80,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ปัจจุบันเหลือเพียง 30,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน หรือผู้โดยสารหายไปประมาณ 60%

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานฯ บขส. ยังมีความกังวลว่า แนวทางการบริหารต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร โดยตนได้ยืนยันว่า หลังจากรับตำแหน่งได้ 1 เดือน ได้เก็บข้อมูล และปัญหาต่างๆ จากการใช้บริการของผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทราบปัญหาแล้ว ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด และเป็นไปตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ย้ำว่าต้องการให้ บขส. ดูแลผู้ใช้บริการ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภายในปี 2564 ได้วางเป้าหมาย 5 ข้อที่จะเข้าไปดำเนินการ โดยเรื่องแรก คือ การจัดลำดับเส้นทางเดินรถของ บขส.ที่มีอยู่ 292 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางใดที่มีประสิทธิภาพก็ยังคงให้บริการ เพื่อให้ธุรกิจของ บขส.มีผลกำไร 2.การดำเนินการต้องรัดกุม รายได้ไม่รั่วไหล ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง หรือการกำกับทั้งหมด ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 3.เตรียมเสนอข้อแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมากว่า 60 ปี จากเดิมที่ บขส.ให้บริการแค่ขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น เพื่อให้ บขส.สามารถขนส่งสินค้าและสร้างรายได้ด้วย

4.บริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น เอกมัย สามแยกไฟฉาย ปิ่นเกล้า ชลบุรี เป็นต้น หลังจากนี้ต้องเร่งพิจารณา เพื่อที่จะหาแนวทางว่า ทำอย่างไรให้ บขส.มีรายได้ในการดำเนินการจากทรัพย์สินเหล่านี้ ในลักษณะการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเอกชนและ บขส. เนื่องจากธุรกิจหลักของ บขส. คือ การบริหารการขนส่ง ไม่ใช่การให้เอกชนเช่าเพื้นที่อย่างเดียว และ 5.การใช้ระบบ ไอที มากยิ่งขึ้นในการเข้ามาดูแลเช่นคือ GPS ที่ติดอยู่ในรถทุกคัน นำมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น ดูในเรื่องต้นทุน การใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด ถือเป็นการนำ Big Data มามามาใช้ประโยชน์ในการเดินรถ

“ได้ถอดบทเรียนช่างโควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าร้านค้าไหนที่ใช้การขนส่งแบบไลน์แมน, แกร๊ป หรือการขนส่งแบบพัสดุภัณฑ์ทุกคนก็อยู่ได้ ในธุรกิจนั้นๆ ดังนั้น บขส.จะ ในเรื่องนี้และจะมีการขอทบทวนแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อที่จะทำให้ บขส. สามารถที่จะประกอบธุรกิจอย่างเต็มตัวในเรื่องของการขนส่ง พัสดุภัณฑ์ซึ่งมองว่ามีกำไรแน่ๆ” นายสรพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ งานบริการ ได้เน้นย้ำเรื่องนโยบายห้องน้ำสะอาด ต้องการให้ประชาชนที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย โดยได้ลงพื้นที่ไปดูในส่วนของศูนย์บริการรถตู้ฝั่งตรงข้ามหมอชิต 2 บริเวณใต้ทางด่วน พบว่ามีผู้มาใช้บริการ 10,000 คนต่อวัน จากการตรวจสอบพบว่าวัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างไม่ได้มาตรฐาน เครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้ โดยได้สั่งการให้ไปดำเนินการภายในระยะเวลา1 เดือน ซ่อมเครื่องปรับอากาศให้เสร็จ นอกจากนี้จะเร่งการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ บขส. ยืนยันว่าจะสรรหาคนดี มีฝีมือ มีเข้ามาทำงานได้อย่าง แน่นอน