“จุฬาลงกรณ์ฯ”ย้ำจุดยืนคุณภาพต้องมาก่อน!! เล็งเจาะลึก TRANSPORT รับ EEC!

 

 

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มีมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งการผลิตบัณฑิต ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ ไม่เพียงแค่นี้ “จุฬาฯ” ยังมี ความพร้อมในทุกด้านๆ รวมทั้งการบูรณาการ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จากสถานการณ์ โควิด 19 เป็นตัวชี้วัดเป็นอย่างดีว่า “จุฬาฯ” มีความพร้อมกับการรับมือด้วยเทคโนโลยีการเรียน การสอนที่ทันสมัย ด้วยความพร้อมเรื่องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็สามารถนำมาใช้ได้ทันที โดยไม่กระทบต่อการเรียนการสอนแต่อย่างใด

“จุฬาฯ มีเครื่องมือเครื่องใช้ มีระบบที่สามารถเลือกใช้ได้ในการติดต่อกับนิสิต ส่งผ่านระบบ Cloud Computing เป็นดิจิทัล 100% และเรามีช่องทางการสอนกว่า 1 ช่องทางให้อาจารย์เลือกสอนตามความเหมาะสมที่แต่ละรูปแบบมีการให้การสนับสนุนนิสิต ด้านโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องการเรียน ซึ่งเราลงทุนทุกเรื่องทั้งระบบดิจิทัล ซอฟแวร์ และฮาร์ดแวร์ ดังนั้น สถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อการเรียนการสอนเลย ส่วนหลังจากเปิดเทอมในการเรียนการสอนก็จะมีการทบทวนอีกครั้ง เรื่องจำนวนที่นั่ง ที่ไม่ให้แน่นจนเกินไป แต่สำหรับจุฬาฯ คงไม่ได้มีปัญหาเพราะจำนวนนิสิตแต่ละคณะไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับพื้นที่การเรียนของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเราเน้นที่คุณภาพ ไม่ได้เน้นปริมาณ”

ศาสตราจารย์ ดร.กมลชนกสุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ปรึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึง ความพร้อมของจุฬาฯ ในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวกรณีของ โควิด 19 ที่กระทบไปทั้งโลก เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กมลชนก สะท้อน ความคิดเห็นว่า โควิด 19 ถือว่าเป็นบทเรียนที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อแวดวงโลจิสติกส์ ดังนั้นเรื่องที่ต้องตระหนักต่อไปคือ Fully Digitization และ Deglobalization คือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศต่างๆ จะหันมาพึ่งพาโซ่อุปทานในประเทศตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตและขายสินค้าโดยไม่พึ่งพาแต่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะเห็นผลกระทบชัดเจนจากขั้นตอนการผลิตหรือตลาดขายสินค้าเมื่อยามที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดเมืองหรือประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เป็นต้น

เช่นเดียวกับประเทศไทยต้องการปรับตัวหลายเรื่อง โดยเฉพาะการผลิตและใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการขนส่งที่มีราคา ถูกลง ฉะนั้นเราต้องเป็น Domestic Production หรือไม่ก็พึ่งพากันเองในประเทศใกล้เคียง ซึ่งเรื่องนี้ทั่วโลกได้เรียนรู้เหมือนกันทั้งหมด ว่าต้องเพิ่มบทบาทในการพึ่งตัวเองมากขึ้น

นอกจากนี้การต้องเตรียมพร้อมด้านบุคลากร ถือว่าเป็นฟันเฟื่องสำคัญของประเทศ หากหล่าวถึงหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน จุฬาฯ ถือว่ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของไทยที่เปิดหลักสูตรนี้ ซึ่งมีทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ด้านโลจิสติกส์ (สหสาขาวิชา) ให้รายละเอียดต่อเรื่องนี้ว่า การเปิดการสอนด้านโลจิสติกส์ทั้ง 3 ระดับจะเน้นคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง อย่างเช่น ระดับปริญญาตรี จะสังกัดอยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีนิสิตประมาณ 20 คน นิสิตที่จบปริญญาตรีในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่จะนิยมศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยเป้าหมายของคณะคือการสร้างให้นิสิตเป็นผู้บริหาร ขององค์กร ฉะนั้นตอนเรียนก็ไม่ได้เน้นสหกิจศึกษามากนัก เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แน่นอนว่า จุดแข็งและเป้าหมายของแต่ละที่ ย่อมแตกต่างกัน ซึ่งเราจะเน้นเรื่องการบริหารและกลยุทธ์เป็นสำคัญ

ในส่วนของระดับระดับปริญญาโท สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย แต่ละรุ่นจะรับนิสิตไม่เกิน 50 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งรุ่น 1 ถึงรุ่น 4 รับแค่ 25 คน ตั้งแต่รุ่นที่ 5 เป็นต้นมาได้มีการขยายจำนวนเป็น 50 คน ตามความต้องการ ของอุตสาหกรรม สำหรับรุ่นนี้มีประมาณ 63 คน ซึ่งปีนี้มีความพิเศษ ให้รับนิสิตมาทดลองเรียนก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การสอบวัดผลต่างๆ ต้องยกเลิกหรือชะลอการสอบ เมื่อผ่านเกณฑ์ครบตามที่หลักสูตรฯ กำหนดจึงเป็นนิสิตเต็มเวลา ซึ่งคุณสมบัติของนิสิตระดับปริญญาโท ต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงาน เข้ามาศึกษาต่อเพื่อต่อยอดด้านหน้าที่การทำงาน

สำหรับระดับปริญญาเอก ถือว่าเป็นหลักสูตรแรกของประเทศ ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ แต่ละปีจะรับจำนวนนิสิตได้ 5 คนส่วนมากคนที่มาเรียนจะเป็นอาจารย์ มาเรียนเพื่อไปสอนต่อ ซึ่งสอดคล้อง กับวัตถุประสงค์ของคณะที่ต้องการสร้างบุคลากรด้านการศึกษา การที่รับได้จำนวนแค่นี้เพราะต้องยอมรับว่าการสร้างคนให้เป็น นักวิจัยที่ดีเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้บุคลกรในการสอนและการดูแลหลายคน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดรับการกับเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผนวกกับการเปิดโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ของรัฐบาลการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กมลชนก กล่าวว่า โครงการอีอีซีย่อมสร้างความท้าทายต่อบุคลากรด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก การผลิตบุคลากรเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว จึงเป็นเรื่อง ที่แต่ละสถาบันการศึกษาย่อมให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับจุฬาฯ ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจจะมุ่งเน้นวิชาเกี่ยวกับการขนส่งในระดับปริญญาโท ที่จะลงลึกให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Multimodal Transport ซึ่งถือว่าเรามีความพร้อม และที่ต้องการเน้นเรื่องการขนส่งเพราะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านนี้ โดยเฉพาะโครงการอีอีซี ที่รัฐบาลได้พัฒนาทั้งในเรื่องของสนามบินท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง มีถนนเกิดขึ้นมากมาย ถือว่าเป็น การกระจายสินค้า หลัก ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางรางจะเห็นภาพของ Multimodal Transport ที่ชัดเจน ซึ่งต้อง ถามตัวเองว่าเรามีความพร้อมหรือยังที่จะให้บริการตรงนี้ เข้าใจภาพนี้แค่ไหนเรื่องไหนที่ยังไม่เติมเต็ม กฎหมายด้านไหนที่ยังเป็นจุดอ่อน

“เรื่อง Multimodal Transport เคยพูดกันนานแล้วแต่ยังไม่เห็นภาพ ที่ชัดเจน เพราะนั้นคือการขาดความเข้าใจและขาดการเชื่อมโยงที่แท้จริง ซึ่ง Multimodal Transport ของไทยจะแตกต่างกับต่างประเทศที่ยังคงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงและมีความซับซ้อนในการปฏิบัติ ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จเรื่อง Multimodal Transport คือประเทศใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา สหรัฐฯ ออสเตรเลียและอินเดีย เป็นต้น ในอนาคตเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ถ้าทำ ความเข้าใจเรื่องจุดอ่อนต่างๆ คาดว่าเรื่องนี้ไทย ก็ต้องทำได้ดังนั้น จุฬาฯ จึงต้องการเข้ามาเติมเต็มเรื่องนี้ในด้านการผลิตบุคคลากรมา สนับสนุน”