‘ศักดิ์สยาม’ เอ่ยปากชม ‘ศูนย์ควบคุมจราจร’ เกาหลี โดดเด่นเทคโนโลยี-นวัตกรรมขนส่งฯ ช่วยหั่นงบฯ ด้านบุคลากร

“ศักดิ์สยาม” บุกเกาหลีเยี่ยมชม “ศูนย์ควบคุมจราจร” เผยจุดเด่นการใช้เทคโนโลยี-นวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ แก้ปัญหาจราจรลั่นเป็นตัวแบบในการทำงาน ช่วยลดงบฯรายจ่ายด้านบุคลากร พร้อมร่วมสังเกตการณ์ระบบ MLFF-จุดพักรถ-พื้นที่เชิงพาณิชย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อดิบดีกรมทางหลวง (ทล.) นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นายชยธรรม์​ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนหน่วยงาน, กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมจราจร (Traffic Center) ภายใต้การบริหารจัดการโดยการทางพิเศษแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Expressway Corporation: KEC)

ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมจราจร มีจุดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบกับ นวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) มาสนับสนุนการดำเนินงานในการบริหารจัดการปัญหาจราจร บังคับใช้กฎหมาย และเฝ้าระวังแจ้งเตือนพร้อมกับสนุนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ภายในศูนย์ฯ​ มีจอภาพขนาดใหญ่แสดงภาพจากกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง​ ๆ​ บนทางด่วน​ ซึ่งมีการติดตั้งทุกระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งกล้องวงจรปิดสามารถสังเกตการณ์ได้ 360 องศา ซูมดูรายละเอียดได้ในระยะรัศมีทำการ 1 กิโลเมตร เชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง

นอกจากนี้ ได้ติดตั้งระบบตรวจจับ (Sensor) ภายใต้พื้นผิวจราจร เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง​มาประมวลผลวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลความหนาแน่นของรถและสภาพการจราจร​ทั่วไปที่เป็นปัจจุบัน (Realtime) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจตราความเรียบร้อยและแก้ปัญหาอุบัติเหตุ​ รวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง​ๆ​ อย่างมีประสิทธิภาพ​ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานและบูรณาการข้อมูลร่วมกับทางหลวงท้องถิ่นและตำรวจ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน การทำงานของศูนย์ฯ เป็นตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และลดงบประมาณรายจ่ายด้านบุคคลากรได้เป็นจำนวนมาก

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้รับฟังการบรรยายและสังเกตการณ์ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบ Hi-pass Multi-Lane Free Flow (MLFF) ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับระบบ​ Easy​ Pass ของไทย​ แต่มีความทันสมัยกว่าเนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่มีความแม่นยำ​ ไม่มีไม้กั้น​ และมีช่องจราจรตั้งแต่​ 2​ ช่องจราจรขึ้นไป สามารถรับข้อมูลได้ ณ อัตราความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งระบบจะไม่เก็บข้อมูลซ้ำซ้อนในกรณีที่รถเปลี่ยนช่องจราจรขณะเข้า​ด่านเก็บค่าผ่านทาง จึงสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดหรือรถชะลอตัวขณะเข้าด่านฯ​ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ โครงการจุดพักรถ-พื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น มีการจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน​ (Community Mall)​ เชื่อมโยงผู้ใช้บริการทางด่วนและชุมชนทั้ง 2 ฝั่ง ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง​ๆ​ ที่ผสมผสานเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ด้วยกัน เป็นการพัฒนาจุดพักรถและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่ที่มีพื้นที่จำกัด​ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่จุดพักรถเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด​และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด