ชง ‘บิ๊กป้อม’ ไฟเขียวขับข้าต่ำกว่า 90 กม./ชม. ห้ามวิ่งเลนขวาสุด ก.พ.นี้ ‘ศักดิ์สยาม’ ลั่น! เน้นปลอดภัย-แก้ปัญหาจราจร

“คมนาคม” จ่อ! ประกาศห้ามขับรถช้าต่ำกว่า 90 กม./ชม. วิ่งเลนขวาสุด ลุ้น “บิ๊กป้อม” ไฟเขียว ก.พ.นี้ ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยันเพื่อความปลอดภัย-แก้ปัญหาจราจร ฟากนโยบายความเร็ว 120 กม./ชม. เตรียมคลอดกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง มี.ค.63 นำร่อง 252 กม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบายการขยายอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.ว่า ตามที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบาย 120 กม./ชม.ฯ นั้น ล่าสุด เตรียมประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณานโยบายดังกล่าวภายในเดือนนี้ พร้อมทั้งรอผลการทดสอบแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Buffer Barrier) เพื่อเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะทำงานดังกล่าว จะมีการพิจารณาบังคับให้ผู้ที่ขับรถในอัตราความเร็วไม่ถึง 90 กม./ชม. ห้ามใช้ช่องจราจรทางด้านขวาสุด ในเส้นทางที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม. ทั่วประเทศ โดยจะต้องมาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายจราจร และกฎหมายทางหลวง ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในช่วง ก.พ. 2563 จากนั้นจะออกประกาศกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.บ.จราจร และมีผลบังคับใช้ต่อไป

ในส่วนของบทลงโทษ กรณีหากผู้ที่ขับรถในช่องจราจรขวาสุด ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม.นั้น จะใช้บทลงโทษเดียวกันกับผู้ที่ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตัดคะแนนใบขับขี่ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการออกประกาศฯ ดังกล่าวนั้น ได้เน้นย้ำรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการกำหนดความเร็วให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.นั้น ปัจจุบันจากการสำรวจสามารถดำเนินการได้ ระยะทางรวม 252 กม. ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข (ทล.) 32 ดำเนินการระยะแรก 45.9 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 100 กม., ทล.1 ดำเนินการระยะแรก 17.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 37 กม., ทล.2 ดำเนินการระยะแรก 6 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 19 กม., ทล.4 ดำเนินการระยะแรก 9.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 18 กม. และอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ต้องออกประกาศกฎกระทรวงรองรับการใช้ความเร็วดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ทางหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 2563 นอกจากนี้ ทล. ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขสภาพพื้นที่ในภาพรวม เช่น ติดตั้งป้ายจราจร เส้นจราจรเพื่อควบคุมการเดินรถ อุปกรณ์กั้นให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสม เป็นต้น รวมถึงให้สำรวจสายทางที่มีความพร้อม โดยต้องมีความปลอดภัย และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการก่อสร้างทางหลวงในอนาคต ให้พิจารณาไม่ใช้เกาะกลางแบบหญ้า ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งให้จัดทำแผนการปลูกต้นไม้ริมทางหลวง ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

รายงานข่าวจาก ทล. ระบุว่า การกำหนดความเร็วในแต่ละช่องจราจรนั้น จะกำหนดให้ช่องขวาสุด เป็นช่องทางที่ให้รถใช้ความเร็วได้สูงสุด และจะให้รถที่วิ่งช้ากว่าอยู่ในช่องทางอื่นๆ ทางด้านซ้าย โดยกำหนดความเร็วลดหลั่นลงมาตามลำดับ การกำหนดในลักษณะนี้ จะช่วยให้รถที่วิ่งช้าไม่ทำให้ความเร็วเฉลี่ยของการจราจรในภาพรวมของถนนลดลงมากนัก นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าว จะสามารถช่วยลดการเปลี่ยนช่องจราจรที่ไม่จำเป็นลงได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการเฉี่ยวชนและการแซงในระยะกระชั้นชิดได้

นอกจากนี้ การกำหนดช่วงความเร็วในแต่ละช่องจราจร เป็นช่วงสูงสุด-ต่ำสุด จะช่วยทำให้เกิดความแตกต่างของความเร็ว ในแต่ละช่องทางน้อยลง ลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายจากความเร็วที่แตกต่าง และการเปลี่ยนช่องจราจร ซึ่งเป็นสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่สูงเป็นลำดับที่ 2 (30%) ปีละประมาณ 5000 ครั้ง จากทุกลักษณะ (ลำดับที่ 1 คือ การเสียหลักตกข้างทาง 45%)