‘กมธ.คมนาคม’ เข้าพบ ‘ศักดิ์สยาม’ แนะการทำงาน 3 เรื่อง หวั่นโปรเจ็กต์ซ้ำซ้อน-สร้างสมดุลในเมืองกับชนบท-เน้นความปลอดภัย
“โสภณ” แนะ “คมนาคม” 3 เรื่อง หวั่นลงทุนโครงการซ้ำซ้อน เน้นความสมดุลโปรเจ็กต์ในเมือง-ระหว่างเมือง พ่วงความปลอดภัย-ลดอุบัติเหตุทางถนน ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานประสาน ส.ส.แต่ละพื้นที่ เรียงความสำคัญโครงการ พุ่งเป้าประโยชน์ภาพรวมประเทศ
นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคมสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังนำคณะกรรมาธิการเข้าพบและตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคมว่า จากการรับฟังข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องบริหารงบประมาณมหาศาล พร้อมด้วยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่นั้น จึงได้มีข้อแนะนำ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ให้พิจารณาการลงทุนต่างๆ ว่ามีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ทั้งการคมนาคมทางบก ทางราง และทางอากาศ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องตอบโจทย์สังคม และความสำคัญในการดำเนินการดังกล่าวว่า มีความคุ้มค่าหรือไม่ ในภาวะที่ประเทศกำลังพัฒนา และมีงบประมาณจำกัด 2.การดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองและในชนบทจะต้องมีความสมดุลกัน และ 3.เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมาตรวจสอบว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากปัจจัยใด ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้น กมธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อมาพิจารณาด้วย
“อำนาจของ กมธ. คือ การตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส เพราะกระทรวงคมนาคม มีการบริหารเม็ดเงินเยอะมาก และเมื่อมีเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ เป็นต้น จึงต้องดูความคุ้มค่าของโครงการ และตอบโจทย์สังคมได้” นายโสภณ กล่าว
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้รับทราบนโยบายแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในภาพรวม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม โดยการดำเนินการโครงการของกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว พร้อมทั้งให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน จากงบประมาณจำกัดของรัฐบาล ด้วยวิธี PPP และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการกำชับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯของแต่ละจังหวัด ซึ่งต่อจากนี้หากมีการดำเนินโครงการต่างๆ จะต้องมีการประสานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะทราบลำดับความสำคัญของการดำเนินโครงการว่าควรดำเนินการโครงการใดก่อนและนำมาบูรณาการความเห็นกับส่วนราชการ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการในประเด็นของความคุ้มค่าและความซ้ำซ้อนของโครงการนั้น จะต้องดูในภาพรวมโครงการ ตัวอย่างเช่นโครงการ EEC ที่จะต้องมีการดำเนินการโครงการควบคู่กันในหลายโครงสร้างพื้นฐานเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่จะนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่โดยรวมอย่าง โดยมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนา คือ การที่จะต้องมองภาพรวมของประเทศทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมในยุคนี้ทำงานโดยใช้หลักธรรมาภิบาลในเรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วม หากมีข้อสงสัยก็พร้อมที่จะมีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร เพราะมองว่าในการดำเนินการต่างๆประชาชนต้องรับทราบ