ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง จากการลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8-12 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังอิหร่านลดการส่งออกน้ำมันดิบ เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังจับตาการปรับกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • การคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐฯ ยังคงกดดันปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ทจีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบรายหลัก และนำเข้าเฉลี่ยราว 650,000 บาร์เรล/วัน มีแนวโน้มปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังบริษัท Sinopec ของจีน ปรับลดการนำเข้าในเดือน ก.ย. ราวร้อยละ 50 มาอยู่ที่ 130,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดมากที่สุดในรอบหลายปี
  • จับตาความร่วมมือของซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อผ่อนคลายอุปทานที่ตึงตัว โดยมีข่าวว่ารัสเซียและซาอุดิอาระเบียได้มีการตกลงกันอย่างไม่เปิดเผยเป็นทางการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตราว 200,000-300,000 บาร์เรล/วัน จากระดับการผลิตในเดือน ก.ย.61 ในขณะที่รัสเซียวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ต.ค.61 ราว 150,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ อยู่ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.ย.61 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 96 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 404.0 ล้านบาร์เรล ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับลดลงราว 0.92 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล
  • ความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันโลกมีเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ นอกจากนี้ อุปสงค์คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลงเช่น ค่าเงินรูปี ของประเทศอินเดีย ค่าเงินรูเปีย ของประเทศอินโดนีเซีย และค่าเงินเปโซ ของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งการที่เงินอ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นเมื่ออยู่ในสกุลเงินอื่น
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน และดัชนีภาคการบริการจีน (Caixin PMI)

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.09 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 74.34 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 84.16 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากผลกระทบของการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ที่คลี่คลายลง หลังสหรัฐฯ และแคนาดาสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยจะร่วมลงนามกับเม็กซิโก และเปลี่ยนชื่อเป็น “ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา” (USMCA) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้