ลุย! ‘คมนาคม’ เห็นชอบรถส่วนบุคคลให้บริการสาธารณะผ่านแอปฯ ได้ คาดมีผลบังคับใช้ มี.ค.63

“คมนาคม” เห็นชอบรถส่วนบุคคลให้บริการสาธารณะผ่านแอปฯ ได้ จ่อเสนอ “ศักดิ์สยาม” ไฟเขียว พร้อมสั่งการ ขบ. ร่างกฎกระทรวง วางกรอบสะเด็ดน้ำภายใน ต.ค.นี้ ก่อนส่งต่อ ครม.-กฤษฎีกา คาดมีผลบังคับใช้ มี.ค. 63

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านการขนส่ง) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง สามารถให้บริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอปฯได้ โดยหลังจากนี้ จะเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา และสั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปดำเนินการร่างกฎกระทรวง และกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อรองรับรถดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคาดว่าร่างกฎกระทรวงจะแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายใน ต.ค.นี้ พร้อมเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายใน พ.ย.นี้ ก่อนส่งให้กฤษฎีกาพิจารณารายละเอียด และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน มี.ค. 2563

สำหรับกฎกระทรวงดังกล่าว จะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ 3 ส่วนหลัก คือ 1.คุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาตใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้บริการเป็นรถสาธารณะ 2.คุณสมบัติของแอปฯ เช่น ระบบตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลที่ทันสมัย ระบบสแกนใบหน้า ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วรถกับคนจะต้องตรงกัน เพื่อป้องกันการแทรกแซงบุคคลอื่นมาใช้แทนได้ เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรม นอกจากนี้ แอปฯ ดังกล่าวจะต้องมีการแจ้งอัตราค่าโดยสาร และประเภทรถล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนรับทราบก่อนการตัดสินใจ 3.คุณสมบัติของรถ จะมีการกำหนดรายละเอียดของการตรวจสภาพรถ ที่จะต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสะอาด ขณะเดียวกัน จะกำหนดเงื่อนไขในการวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับจุดจอดแท็กซี่ที่กำหนดไว้ ป้องกันการตัดคิว และเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันได้ โดยการให้บริการนั้น จะต้องใช้ผ่านแอปฯ เท่านั้น ห้ามโบกระหว่างทาง พร้อมทั้งจะมีการติดสติ๊กเกอร์ หรือเครื่องหมายที่ ขบ.กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

“หัวใจสำคัญของการให้รถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรถสาธารณะนั้น คือ เราเน้นเรื่องของความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว และเมื่อพิจารณาแล้วว่า รถคันไหนไม่เหมาะที่จะให้บริการประชาชน หรือไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะยกเลิกการอนุญาตให้ใช้แอปฯ เรียกรถคันนั้นๆ ทันที” นายจิรุตม์ กล่าว

ในส่วนเรื่องของรถจักรยานยนต์นั้น นายจิรุตม์ กล่าวว่า จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.รถยนต์ฯ เนื่องจากจะต้องกำหนดข้อยกเว้นให้รถ จักรยานยนต์ที่จะใช้รับจ้าง ต้องมาจดเป็นรถยนต์สาธารณะเท่านั้น รวมถึงการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างนั้น จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์การกำหนดขอบเขตพื้นที่วิ่งให้บริการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบผู้ประกอบการในระบบที่ผ่านขั้นตอนการจัดระเบียบในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการแก้กฎหมายดังกล่าวนั้น จะต้องเสนอแก้ไขผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วย