‘คมนาคม’ เคาะ 2 รูปแบบใช้ยางพาราทำ ‘หลักกิโล-แผ่นยางครอบแบริเออร์’ จ่อสตาร์ทใช้ต้นปี 63

“คมนาคม” เคาะ 2 รูปแบบใช้ยางพารา “หลักกิโล-แผ่นยางครอบแบริเออร์” หนุนอัพรายได้เกษตรกร-ความปลอดภัย ด้าน “ศักดิ์สยาม” จี้ออกแบบให้เสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนส่งไม้ต่อทดสอบในไทย-ต่างประเทศ ฝันสตาร์ทใช้ต้นปี 63 พร้อมจ่อถก ก.เกษตรฯ ลิมิตปริมาณยาง หวั่นสูงเกินดีมานต์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ศึกษาแนวทางในการนำยางพาราไปใช้ในโครงการก่อสร้างต่างๆ นั้น ล่าสุดกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เสนอแนวทางการดำเนินการ 2 รูปแบบที่เหมาะสม คือ 1.การนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการทำหลักกิโลและแนวกันโค้ง โดยมีสัดส่วนการใช้ยางพารา 63.22% ซึ่งหลักกิโล 1 แท่ง จะใช้ยางพารา 32 กิโลกรัม มีต้นทุน 1,566 บาทต่อความสูง 1.40 เมตร จากราคาน้ำยางดิบกิโลกรัมละ 38 บาท 

2.แผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Buffer Barrier) โดยมีสัดส่วนการใช้ยางพารา 79.38% ซึ่งหลักกิโล 1 แท่ง จะใช้ยางพารา 60.8 กิโลกรัม มีต้นทุน 2,900 บาทต่อ 1 เมตร (พร้อมคอนกรีต) จากราคาน้ำยางดิบกิโลกรัมละ 38 บาท ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้ไปพิจารณานำแผ่นยางดังกล่าว ไปใช้กับโครงการที่จะก่อสร้างในอนาคตทั้งหมด ในส่วนของแบริเออร์คอนกรีตที่มีอยู่เดิมนั้น ให้พิจารณานำแผ่นยางไปครอบไว้ แต่จะต้องไปพิจารณาต้นทุนที่เพิ่มด้วย ขณะที่การบำรุงรักษาแผ่นยาง จะมีการทาน้ำยาเคลือบเมื่อใช้งานไปแล้ว 1 ปี เพื่อยืดอายุการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปพิจารณารายละเอียดและออกแบบให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยจะต้องออกแบบให้สามารถรองรับความเร็วของรถได้ 140 กม./ชม. จากนั้นจะนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ ที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งเมื่อผ่านการทดสอบดังกล่าวแล้ว จะส่งต่อไปทดสอบยังต่างประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหน่วยงานที่ได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยในระดับสากล อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะดำเนินการทดสอบและสามารถนำมาทยอยใช้กับถนนในประเทศไทยได้ภายใน 3 เดือน หรือภายในต้นปี 2563

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

“หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะไปหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงปริมาณของยางพารา ที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการการใช้ยาง และจะต้องมีลิมิตชัดเจนของเกษตรกรที่จะปลูกยาง เพื่อให้มีราคาที่เหมาะสม ไม่ต่ำ และไม่สูงเกินต้นทุนที่จะนำยางพารามาใช้ ซึ่งการทำ Rubber Buffer Barrier 1 กม.นั้น จะต้องใช้น้ำยางพาราดิบ 6 ตัน โดยจะต้องมาพิจารณาปริมาณ (ซัพพลาย)กับความต้องการ (ดีมานต์) ไม่ให้สูงเกิน” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการตามนโยบายสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมพิจารณาใช้ยางพาราในโครงการก่อสร้างต่างๆ นั้น ได้มอบโจทย์ในการพิจารณา 3 เรื่อง คือ 1.ดำเนินการเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร 2.ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และ 3.อุปกรณ์ที่นำยางพารามาดำเนินการ ต้องมีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จและเป็นรูปธรรมนั้น เกษตรกรจะมีรายได้จากยางพาราเพิ่มขึ้น 79% จากเดิม 13 บาทต่อ 1 ตารางเมตรในการปรับปรุงพื้นผิวถนน