บวท.เศร้า! สงครามการค้าฉุดเที่ยวบินปี 62 โต 1% หลุดเป้าคาดการณ์ 6% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

บวท.เผยตัวเลขปริมาณจราจรทางอากาศปี 62 หลุดเป้าในรอบ 10 ปี คาดโต 1% จากฝัน 6% เหตุการค้าสหรัฐ-จีน ฟากจราจรการบินอีสาน โตต่อเนื่อง 7.4%
นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดการบินในปีนี้ว่า มีการเติบโตลดลง ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบนับ 10 ปีที่ผ่านมา โดย บวท.คาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดการบินจะขยายตัวเพียง 1% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 6% โดยมีเที่ยวบินลดลงประมาณ 50,000 เที่ยวบิน อยู่ที่ 1.04 ล้านเที่ยวบินตลอดปี จากเดิมปี 2561 อยู่ที่ 1.1 ล้านเที่ยวบิน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้ผลกระทบจากสงครามการค้า (สหรัฐ-จีน)​
นอกจากนี้ ยังรวมถึงสภาวสงครามในปากีสถานและการแยกตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 0.7% ลดลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวนักท่องเที่ยวในปีก่อนที่ 6-7% ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการสภาวะทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการขยายตัวของเที่ยวบินโดยตรง ส่งผลให้การเติบโตในปี 2563 ตลาดการบินมีโอกาสเงียบเหงาต่อเนื่องหากการเติบโตเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวแค่ 2-3%
สำหรับตัวเลขปริมาณการบินในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ส.ค. 2562) ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 964,322 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,876 เที่ยวบิน/วัน  สำหรับสนามบินที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือสุวรรณภูมิอยู่ที่ 348,615 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 36% รองลงมาเป็นสนามบินดอนเมือง 265,616 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 27.5% และสนามบินภูเก็ต 108,095 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 11.2% อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางบินทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางบินที่มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณเที่ยวบินรวมอยู่ที่  239,771 เที่ยวบินต่อปี เฉลี่ยวันละ 632 เที่ยวบินต่อวัน เฉลี่ยภาพรวมเติบโตอยู่ที่ 7.4%
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ในปีนี้จะมากกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้จะมีการลงทุน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1,000 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2566-2567 และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินเบตง มูลค่า 200 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2563