บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินเครื่องบูรณาการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ด้านโลจิสติกส์ (สหสาขาวิชา) ร่วมกับคณะต่างๆ มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ สร้างคน พร้อมพัฒนางานวิจัยด้านการจัดการโลจิสติกส์อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ด้านโลจิสติกส์ (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการด้านโลจิสติกส์ (สหสาขาวิชา) นั้นได้เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2545 และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์ด้าน การจัดการด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการโลจิสติกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการขนส่ง พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการ บูรณาการศาสตร์ในงานวิจัยและการเรียนการสอนระหว่างสถาบันวิจัย ภาควิชา และคณะต่างๆ และหลักสูตรนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกองทัพอากาศด้วย เพื่อสร้างบุคลากรและงานวิจัย ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอนในระดับดุษฎีบัณฑิต

นอกจากนี้ ทางบัณฑิตวิทยาลัยยังได้มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นผู้ว่าจ้างนิสิต รวมไปถึงตัวนิสิตด้วย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลใช้ในการพัฒนาและบูรณาการหลักสูตรร่วมกันของคณาจารย์ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และบัญชี เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ เพื่อให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับภาวะความต้องการของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและเพื่อให้หลักสูตรเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ การพัฒนางานวิจัยด้านการจัดการโลจิสติกส์ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง นั่นคือเรื่องของการสร้างบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และเรื่องต่อมาคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาและการวิจัยด้านโลจิสติกส์ของประเทศในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ด้านโลจิสติกส์ (หลักสูตรนานาชาติ/สหสาขาวิชา) ซึ่งนับเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการด้านโลจิสติกส์ เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งเน้นผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการด้านโลจิสติกส์ขั้นสูงอย่างบูรณาการและครอบคลุม ซึ่งเป้าหมายของทางบัณฑิตวิทยาลัย ต้องการที่จะพัฒนาให้นิสิตที่เรียนจบไปได้เป็นอาจารย์ หรือนักวิจัย ที่จะสามารถเข้าไปพัฒนาหน่วยงาน องค์กรที่ตนเองสังกัดอยู่ หรือพัฒนาประเทศไปได้อย่างมีศักยภาพ ดังนั้นในแต่ละปีจึงรับจำนวนนิสิตไม่มากเพียง 3-5 คนเท่านั้น เพราะบัณฑิตวิทยาลัยจะให้ความสำคัญ กับเรื่องของคุณภาพทั้งของนิสิตและคณาจารย์เองที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะการที่รับ นิสิตป.เอกนั้น อาจารย์ผู้สอนต้องดูแลตั้งแต่ต้นจนจบแบบต่อตัวต่อตัว เพราะนิสิตที่เรียนป.เอกจะต้องมีการวิจัยอย่างเข้มข้น ซึ่งถ้ารับเยอะเกินไปความสามารถของการดูแลจะไม่เพียงพอ และนิสิตที่จบไปจะมีคุณภาพที่ไม่ดี ขณะที่ปริญญาโทในแต่ละรุ่นจะรับนิสิตได้ประมาณ 50-55 คนต่อปี และในปี 2562 ถือเป็นปีที่ 18

สำหรับ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการด้านโลจิสติกส์ (สหสาขาวิชา) ของบัณฑิตวิทยาลัย จะมีหลากหลายกลุ่ม โดยมีทั้งภาครัฐ ซึ่งจะมีหน่วยงาน สังกัด กรม กองต่างๆ และภาคเอกชน ที่จะมีทั้ง ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าของธุรกิจ โดยกลุ่มบริษัทแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานทางด้านของสายการขนส่ง (Freight Forwarder) หรือเป็นพวก Export ที่ทำงานดูและเกี่ยวกับขนส่งสินค้าจากในประเทศส่งไปยังต่างประเทศ หรือจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น กลุ่มที่ทำงานทางด้านสายอุตสาหกรรม คือโลจิสติกส์ในโรงงานค่อยดูเรื่องของการผลิตในโรงงาน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำงานสายโลจิสติกส์แต่มีความสนใจ