‘ศักดิ์สยาม’ แจงนโยบายเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ยันทำเพื่อประชาชน

“ศักดิ์สยาม” แจงนโยบายเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ด้วยระบบ “ความสมัครใจ” หวั่นเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ นำสู่การปรับขึ้นค่าโดยสาร กระทบหนักประชาชน พร้อมเล็งออกมาตรการหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยราคาต่ำ-ซ่อมบำรุง-จัดที่จอดรถ ดึงผู้ประกอบการใช้ไมโครบัส กางสถิติอุบติเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากคนมากกว่ารถ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงประเด็นนโยบายการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสว่า นโยบายดังกล่าว เป็นการดำเนินการด้วยภาคสมัครใจ และไม่ได้ห้ามเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส แต่ถือเป็นการไม่ใช้มาตรการบังคับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนรถจากรถตู้ไปเป็นไมโครบัสที่มีราคาสูง หรือประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อคัน จากราคารถตู้ที่อยู่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาทต่อคัน ทั้งนี้ หากใช้มาตรการบังคับ และผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัสนั้น อาจจะทำให้ปริมาณรถในระบบที่เคยให้บริการลดลง และส่งผลกระทบกับประชาชนในอนาคต

“ถ้าผู้ประกอบการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสนั้น ราคารถสูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น การปรับราคาค่าโดยสารสูงขึ้นก็จะตามมา และจะส่งผลกระทบกับประชาชน ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ถ้าต้นทุนที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการขับรถเร็วเพื่อ “ทำรอบ” เพิ่มขึ้นด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการสนับสนุนให้ใช้รถไมโครบัสทดแทนรถตู้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงขึ้นนั้น จะต้องมีระบบบริหารจัดการรองรับต่อเนื่อง เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจัดซื้อรถให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนรถมากกว่า 10,000 คัน เป็นวงเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่การจัดหาระบบซ่อมบำรุงรถไมโครบัส ซึ่งเกือบ 100% เป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ระบบการซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ ต้องมีความพร้อม เพราะอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบริการประชาชนได้ รวมถึงการจัดหาสถานที่จอดรถในลักษณะสถานีจอดรถ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปัญหาจราจร และการจัดการเดินรถที่ไม่ทำให้ซ้ำเติมปัญหาจราจรด้วย

“นโยบายดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือประชาชน และลดภาระประเทศ ด้วยการลดต้นทุนผู้ประกอบการ ลดค่าใช้จ่ายประชาชน และลดการขาดดุลการค้า ซึ่งการให้เปลี่ยนรถด้วยระบบสมัครใจ ถือเป็นการไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อม แต่ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการเปลี่ยนได้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการมีความพร้อม จะเปลี่ยนเอง เพราะเป็นรถใหม่ ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีโอกาสที่ประชาชนจะใช้บริการมากขึ้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว

แฟ้มภาพ

ทั้งนี้ การใช้มาตรการบังคับ อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากจะเลิกดำเนินการธุรกิจต่อไป อาจจะนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ขณะเดียวกันการให้เปลี่ยนด้วยระบบสมัครใจ จะทำให้มีการตรึงราคาค่าบริการไว้ได้ ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน ทั้งยังไม่ต้องเสียเงินตราต่างประเทศมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าระหว่างประเทศ

ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุของรถตู้ส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นจากสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจของผู้ขับ รวมถึงสภาพแวดล้อม 72% และมีสาเหตุจากยานพาหนะเพียง 2.9% เท่านั้น ขณะที่รถโดยสารทั่วไป  มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับ 67% และเกิดจากรถเพียง 6.8% ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ ผู้ขับยานพาหนะ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีการปล่อยปละละเว้นการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยการตรวจสภาพรถจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย ด้านการขยายอายุรถจก 10 ปีเป็น 12 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพรถ หากสภาพรถไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะเป็นรถสาธารณะ แม้จะอายุไม่ถึง 10 ปี ยืนยันว่าไม่ได้รับอนุญาตให้มาบริการประชาชน ซึ่งต้องพิจารณาความปลอดภัยเป็นลำดับแรกและการก่อมลภาวะ เป็นลำดับถัดมา

“แนวทางทั้งหมดนี้ มีเจตนารมณ์ เพื่อจะลดต้นทุนผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อม แต่ไม่ห้ามผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและจะต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของประชาชนผู้โดยสารสูงสุด ขอยืนยันว่า ให้มีการเปลี่ยนได้ด้วยความสมัครใจ ไม่บังคับให้เปลี่ยน และไม่ห้ามเปลี่ยน เพราะประชาชนผู้โดยสารจะเป็นผู้เลือกใช้บริการเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้หากประชาชนผู้โดยสารไม่เห็นด้วย และผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ไม่สร้างความเชื่อถือให้แก่ประชาชนผู้โดยสาร ก็อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพบริการ ความปลอดภัย และความพึงพอใจของประชาชนสูงสุด” นายศักดิ์สยาม กล่าว