‘เอบีม คอนซัลติ้ง’ รับดิจิทัลทรานส์ฟอร์มในไทย รุก 3 อุตสาหกรรม ฟันรายได้ 906 ล้าน

“เอบีม คอนซัลติ้ง” ชี้ช่องทางลัดสู่ความสำเร็จแบบก้าวกระโดด เปิดข้อมูลเชิงลึก การเติบโตดิจิทัลทรานส์ฟอร์มในไทย รุก 3 อุตสาหกรรม ขยายตอบโจทย์ตลาดฯ ตั้งเป้าปีนี้รายได้โต 30% หรือแตะ 906 ล้านบาท 

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “เอบีม คอนซัลติ้ง” บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่นนั้น ซึ่งเปิดให้บริการที่ปรึกษาในประเทศไทยเมื่อปี 2548 โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 350 คน ที่ให้บริการลูกค้ามากกว่า 180 รายในประเทศไทย โดยเป็นสัดส่วนบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 60-70% บริษัทไทยประมาณ 20-30% (ประมาณ 40 แห่ง) และบริษัทอื่น หรือยุโรปประมาณ 10%

ทั้งนี้ เพื่อให้บริการที่ปรึกษาแบบครบวงจร เอบีม คอนซัลติ้ง ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายใน ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าองค์กรธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากการแบ่งฝ่ายตามบริการที่ปรึกษาประเภทต่างๆ แบ่งเป็นโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมของธุรกิจตามประเภทธุรกิจของลูกค้า และกลุ่มงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยรวมงานบริการ 7 ด้านที่มีความเชี่ยวชาญไว้ในกลุ่มดังกล่าว โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เอบีม คอนซัลติ้ง มีรายได้ในประเทศไทยรวม 702 ล้านบาท คาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตประมาณ 29-30% มากกว่าปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 906 ล้านบาท โดยถึงแม้ว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจของไทย ยังไม่ได้เติบโตมากนัก แต่เอบีม คอนซัลติ้ง เชื่อว่า กลุ่มลูกค้า ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดต้นทุนในการดำเนินการด้วย

นายอิชิโร กล่าวต่ออีกว่า เอบีม คอนซัลติ้ง มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใน 7 บริการ ได้แก่ 1.บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ 2.บริการที่ปรึกษา CIO 3.บริการที่ปรึกษาด้านการขายและโลจิสติกส์ 4.บริการด้านการบริหารและการควบคุมการเงิน 5.บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทุนบุคลากร 6.บริการที่ปรึกษาด้านการบริการและการวิเคราะห์ข้อมูล และ 7.บริการที่ปรึกษาด้านการปฏิบัติการที่เป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นในการให้บริการที่ปรึกษาให้กับ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมโรงงานและรถยนต์ 2.ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภค ทั้งที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม และ 3.ธุรกิจบริการทางการเงิน

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก หรือ Insight study ด้วยวิธีการศึกษาแบบเชิงคุณภาพ เกี่ยวกับการเติบโตของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในประเทศไทย พบว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอยู่ในระยะที่ 2 ในมิติของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น มีการใช้ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชัน หรือ SAAS มีการผสมผสานข้อมูลไซโล และมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบคาดการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มตลาดรถยนต์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค

ในขณะที่มิติด้านกลยุทธ์ องค์กร บุคลากร และกระบวนการทำงาน ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มฯ จะต้องทำในมิติสำคัญ 5 มิติ ประกอบด้วยมิติกลยุทธ์ มิติองค์กร มิติเทคโนโลยี มิติบุคลากร และมิติกระบวนการ เพื่อปรับทุกมิติให้มีความคล่องตัวในการทำงาน สามารถพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบัน และรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง