‘อธิรัฐ’ มอบนโยบาย จท. สั่งปั้นท่าเรือสู่ระดับโลก นำร่อง ‘ท่าเรือสาทร’ พร้อมเปิดเต็มรูปแบบปี 63

“อธิรัฐ” บุก จท. สั่งปั้นท่าเรือสู่ระดับโลก นำร่อง “ท่าเรือสาทร” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขีดเส้นตายแล้วเสร็จภายในปี 63 พ่วงเตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียวให้ จท.หาเงินบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ จ่อคุย ทช.ขอพื้นที่ทางเข้าขายของเอาใจนักท่องเที่ยว พร้อมลุยจัดระเบียบเรือ-ท่าเรือ-ลุกล้ำลำน้ำผิด กม.ภายใน 6 เดือน เร่งสปีดแก้ปัญหาภัยแล้งอีสาน

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมเจ้าท่า (จท.) พร้อมลงพื้นที่ท่าเรือสาทรว่า ได้สั่งการให้ จท. ไปดำเนินการปรับปรุง พัฒนา และสร้างท่าเรือโดยสาร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเดินทางพร้อมกับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อแก้ไขปัญหารถติดในเมืองหลวง โดยตั้งเป้าพัฒนาท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ทัดเทียมกับสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะท่าเรือติดรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยในเบื้องต้น จะนำร่องพัฒนาท่าเรือสาทร ก่อนจะขยายไปยังท่าเรืออื่นต่อไป ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นท่าเรือระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 14 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แผนของ จท.นั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือทั้งสิ้น 19 ท่าเรือ วงเงินรวม 800 ล้านบาท

สำหรับท่าเรือสาทรนั้น ถือเป็นท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทย และต่างชาติ เนื่องจากพื้นที่บริเวณโดยรอบท่าเรือสาทร ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการนั้น จะพัฒนาเป็นท่าเรือปิด เช่นเดียวกับสถานีรถไฟ สนามบินในต่างประเทศ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในท่าเรือ เช่น E-Ticket จอ LED แสดงตารางเรือ ร้านค้าสะดวกซื้อ ระบบรองรับเด็กและผู้พิการ เป็นต้น โดยในปัจจุบันท่าเรือสาทรมีผู้โดยสารประมาณ 50,000 คนต่อวัน และในช่วงเทศกาลมีผู้โดยสารกว่า 100,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าหากสามารถพัฒนาท่าเรือสาทร ที่ได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จากเดิมกำหนดไว้ภายในปี 2564 นั้น คาดว่าจะผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

“ผมตั้งใจจะพัฒนาท่าเรือทั้งหมดให้มีความอินเตอร์มากขึ้น โดยเฉพาะที่ท่าเรือสาทรให้เป็นต้นแบบก่อน เป็นการแบ่งเบาการเดินทางทางบก กับทางราง และลดการจราจรแออัด ที่สำคัญ คือ เรื่องของความปลอดภัย ใครจะลงเรือ ถึงจะเข้ามาที่ท่าเรือได้  เพราะถ้ามีความปลอดภัย คนจะหันมาใช้การเดินทางทางเรือมากขึ้นโดยอัตโนมัติ” นายอธิรัฐ กล่าว

นายอธิรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณท่าเรือสาทรนั้น เตรียมขยายพื้นที่ในการขายสินค้า รวมถึงเตรียมเจรจากับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการขอพื้นที่ระหว่างทางเดินเข้าท่าเรือ เพื่อดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ จท. สามารถหารายได้เชิงพาณิชย์ได้

ขณะเดียวกัน ภารกิจที่ จท. จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดระเบียบท่าเรือ มาตรฐานเรือ และส่งรุกล้ำลำน้ำที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง โดยเฉพาะในเส้นทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเน้นย้ำให้การบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องมีการเข้มงวดมากที่สุด หลังจากนี้ จท. จะต้องไปเจรจาและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการเอกชน โดยกำหนดกรอบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ จท. ไปสำรวจพื้นที่ และเร่งขุดลอกคูคลองในแม่น้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกันนี้ จะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบูรณาการงานร่วมกัน

นายอธิรัฐ กล่าวต่ออีกว่า จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่จะพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ให้มีการลดต้นทุน รวมถึงลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร หรือการแก้ปัญหาการจราจรแออัดบริเวณถนนพระราม 2 อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ จท. ได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว และได้รับรายงานล่าสุดว่า มีเอกชนสนใจหลายรายที่จะเข้ามาดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอธิรัฐ ยังได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างองค์กรสมัยใหม่ จัดรูปแบบองค์กรใหม่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและเหมาะสม รวมทั้งการจัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ จัดตั้งหน่วยงานระดับ กอง หรือสำนักที่มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญของ จท. เช่น กองตรวจการทางน้ำ กองบริหารเรือประมง เป็นต้น