รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเป็นรูปเป็นร่าง แม้จะใช้เวลาในการจัดตั้งค่อนข้างนาน แต่ก็พอเห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีกันแล้ว ซึ่งในเรื่องของเศรษฐกิจมีหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน โดยเฉพาะการค้า การลงทุน ขนส่ง และโลจิสติกส์

ชงรัฐรับมืออุปสรรคการค้า
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. จัดทำ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” เพื่อเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลใหม่ในการรับมือกับ อุปสรรคทางการค้า ได้แก่ 1. การเปิดตลาดการค้าใหม่และเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยแบ่งเป็น การจัดกิจกรรม Trade Mission และ Thailand Exhibition ในตลาดยุทธศาสตร์ การใช้ประโยชน์จากการเป็นประธานอาเซียน และ การเร่งเจรจา การค้าเสรีไทย-อียู, CPTPP และ RCEP
2. ส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้อง พัฒนา B2B Cross Border e-Trading Platform และ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 3. ยกระดับความพร้อมของบุคลากรให้สอดคล้องกับบริบทการค้าในปัจจุบัน โดยส่งเสริมด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนใน การลงทุนพัฒนาบุคลากร และพัฒนาหลักสูตร
ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับประสิทธิภาพ ด้านโลจิสติกส์ โดยอำนวยความสะดวกทางการค้า/พิธีการศุลกากร ต้องพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และส่งเสริมการ มีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และบริการโลจิสติกส์
5. สร้างเสถียรภาพด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน โดยการเจรจาสนธิสัญญาภาษีซ้อน ลดต้นทุนและข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน 6. ส่งเสริมการพัฒนา ปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน ได้แก่ การลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการส่งออก สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ และ 7. ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายเพื่อมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอน/ต้นทุน

หนุนการแข่งขันขนส่งไทย
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น ในหลายๆ เรื่องไม่สามารถจับต้องได้ และยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล ตนเชื่อว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อยกระดับการขนส่งไทยให้สามารถแข่งขันกับบริษัทขนส่งต่างชาติได้ ที่ในขณะนี้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินการกว่า 60-70% แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า ผู้ประกอบการขนส่งจะดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่บังคับไว้ แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนในด้านของข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีต่างๆ จากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการหารือร่วมกับสมาชิกของสหพันธ์ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ด้านนายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ฝากให้รัฐบาลเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งให้มากขึ้น ช่วยพิจารณาการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการขนส่งของไทยกับต่างชาติที่มีความพร้อมทั้งเรื่องของงบประมาณการลงทุน และเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาการให้บริการรูปแบบใหม่ เช่น การเชื่อมต่อโหมดการขนส่งสินค้า ทั้งทางรถไฟ ทางน้ำ ทางอากาศ และทางถนน แบบไร้รอยต่อ เพื่อประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ดีอีกด้วย

ยกระดับการบิน
ขณะที่นายรณน วิพุธศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ สายการบินไทยเวียดเจ็ต กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการสายการบินอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามายกระดับการบินของประเทศ คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านสนามบินเป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการ เพราะวันนี้สนามบินทุกแห่งในไทย เกินขีดการรองรับ (Over Capacity) ไปหมดแล้ว อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารมากกว่าปีละ 60 ล้านคน แต่มีขีดความสามารถในการรองรับได้แค่ 45 ล้านคนต่อปีเท่านั้น เนื่องจากสนามบินแออัดส่งผลให้บริหารจัดการผู้โดยสารและเที่ยวบินได้ยาก ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลไทยลดภาษีค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) จากปัจจุบัน 700 บาท/คน (ชาวต่างชาติ) ควรลดลงสัก 50% ให้เหลือ 350 บาท เพื่อส่งเสริมการเดินทางให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการลดภาระให้ผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตัดสินใจมาท่องเที่ยวไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น

คปภ.หนุนรัฐสานต่อนโยบายทำ พ.ร.บ.ทุกหน่วยงาน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิ การคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ประกันภัยรถยนต์ต่างแดนปัจจุบันถือว่ายังมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานไม่เพียงแค่ประกันภัยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงระบบการคมนาคม และระบบการจราจรในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่แตกต่างกันและใช้ระบบที่แตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปร่วมพูดคุยและร่วมกันปรับระบบต่างๆ ทั้งทางด้านศุลกากร ด้านขนส่งทางบก เป็นต้นซึ่งความคืบหน้าขณะนี้มีอยู่บ้างแล้วแม้จะยังไม่มาก เนื่องจากประกันภัยรถยนต์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยในไทยใช้ 2 รูปแบบ คือประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ได้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำการปฎิรูปแบบ โดยภายในสิ้นปี 2562 อาจจะเห็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายในเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบ ทั้งนี้ สิ่งที่อยากจะให้รัฐบาลสนับสนุน คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รวมทั้งเรื่องของรถจักรยานยนต์ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ได้ทำประกันภัยจำนวนมาก รวมทั้งในส่วนของภาครัฐเองได้มีข้อยกเว้นเรื่องของ พ.ร.บ. ซึ่งอยากให้มีการทำประกันภัยให้ทั่วถึง

ขณะเดียวกัน ยังมีในเรื่องคอร์สค่าใช้จ่ายของประกันรถยนต์สูงขึ้น อาทิ การเคลมมีจำนวนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการมากขึ้น รวมไปถึงการแข่งขันสูงในแง่ของการลดเบี้ยประกัน ส่งผลให้บางบริษัทต้องลดพร์อตประกันรถยนต์ และบางบริษัทอยู่ไม่ได้ ซึ่งถ้าปล่อยเรื่องนี้ไว้นานจนเกินไปจะทำให้ธุรกิจนั้นไม่เติบโต แต่ขณะนี้ธุรกิจประกันภัยรถยนต์ยังดีอยู่เพราะคนใช้รถเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอยากรัฐบาลชุดนี้สานต่อจากนโยบายจากชุดที่แล้วที่พยายามผลักดันเรื่องการทำประกันภัย พ.ร.บ. ทุกหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน รวมถึงเรื่องนโยบายด้านเทคโนโลยีด้านการประกันภัย