กทท. อัพเดทคอนเทนเนอร์ไฟไหม้ ลุยเดินหน้าเยียวยาผู้ประสบเหตุ

เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง หรือ ทลฉ. ระบุว่า จากการดำเนินการลงพื้นที่บริเวณแอ่งจอดเรือที่ 1 (BASIN 1) เมื่อวานนี้นั้น ขณะนี้ บริษัท แอล ซี เอ็ม ที จำกัด (A0) บริษัท เอ็น วาย เค ออโต้ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (A1) บริษัท แอล ซี บี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด (B1) และบริษัท เอเวอร์กรีน เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (B2) สามารถให้บริการเรือเข้าออกได้เกือบปกติแล้ว และขอเรียนชี้แจงว่า ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. และศูนย์ปลอดภัยคมนาคมทางน้ำ ไม่ได้มีประกาศในการห้ามเรือเข้าเทียบท่า หากแต่อาจเกิดความไม่สะดวกในขณะตรวจสอบวัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำ
ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีมาตรการ ที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้ 1.มาตรการแก้ไขเยียวยาและลดผลกระทบขณะเกิดเหตุ โดยการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชน โรงพยาบาลในทันที ขณะที่เทศบาลนครแหลมฉบัง จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนผู้ประสบเหตุ และรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้นทั้งหมดก่อน 2.มาตรการฟื้นฟู และเยียวยาภายหลังเกิดเหตุ โดยการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะตั้งคณะทำงานในการพิจารณาการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีผู้แทนท่าเรือแหลมฉบัง เทศบาลนครแหลมฉบัง สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ บริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด สายเรือ KMTC และชุมชน
ขณะเดียวกัน มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ บริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และ ผู้แทนสายเรือ KMTC พิจารณาผลการเยียวยาตามกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงรับข้อร้องเรียนจากเทศบาล นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง คัดแยกประเภทผลกระทบ เช่น ด้านสุขภาพ ด้านทรัพย์สิน อีกทั้ง เชิญเทศบาล ตำรวจ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ประชุมหารือ ชี้แจงผลการพิจารณาการเยียวยา โดยพิจารณาประเมินค่าเสียหาย 7 วันทำการ หลังจาก 7 วันเริ่มดำเนินการตามมาตรการเยียวยา ใช้เวลาประมาณ 15 วันทำการ
อย่างไรก็ตาม 3.ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม น้ำ อากาศ โดย ท่าเรือแหลมฉบัง กรมควมคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้ายื่นเรื่องที่ “ศูนย์รับแจ้งเหตุผู้ประสบภัย เทศบาลนครแหลมฉบัง” ภายในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรือลำดังกล่าวไม่ได้สำแดงว่ามีสินค้าอันตราย และไม่ได้ยกลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งตามปกติจะต้องแจ้งว่ามีสินค้าอันตราย และสารเคมีดังกล่าวมีพิษ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสามารถเอาผิดได้กับเจ้าของเรือ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อท่าเรือ และประชาชน