‘กรมราง’ จ่อชง ครม. ไฟเขียวแผน M-Map 2 มูลค่ารวม 5.8 แสนล้าน ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า 245 กม. เสร็จภายในปี 83

“กรมราง” จ่อชง ครม. ไฟเขียวแผนแม่บทพัฒนารถไฟฟ้า “M-Map 2” รวม 19 โครงการ มูลลงทุนกว่า 5.8 แสนล้าน ขยายโครงข่าย 245 กม. คาดแล้วเสร็จครบทั้งหมดภายในปี 83 นำร่องส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 โปรเจกต์ เตรียมประมูลภายใน ต.ค.นี้ พร้อมลุยสายใหม่ “สีน้ำตาล” ช่วงแคราย – บึงกุ่ม มูลค่า 4.1 หมื่นล้าน

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนา “Driving Railway Network and Urban Growth with The Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2)” เพื่อนำเสนอและหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ได้ดำเนินการศึกษาร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) หรือ ไจก้า ว่า ขณะนี้ผลการศึกษา M-MAP2 แล้วเสร็จ โดยจะมีการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยเพิ่มเติม 19 โครงการ เพิ่มระยะทางกว่า 245 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจะเร่งดำเนินการระหว่างปี 2568 – 2583

“ที่ผ่านมา ขร.ทำงานร่วมกับไจก้าในการนำเอาประสบการณ์พัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าจากญี่ปุ่นมาศึกษาเป็นโมเดลปรับใช้ในไทย ช่วยจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนเร่งด่วน วัดจากปริมาณผู้โดยสาร ความพร้อมด้านการลงทุน การกำหนดอัตราค่าโดยสาร การใช้ระบบตั๋วร่วม รวมไปถึงความสำเร็จของการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ต้องมีฟีดเดอร์เชื่อมต่อการเดินทาง และการพัฒนาพื้นที่หน้าสถานีเพื่อบริการผู้โดยสาร” นายอธิภู กล่าว

นายอธิภู กล่าวต่อว่า จากการศึกษาตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ขร.ได้จัดลำดับแผนการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้า M-Map 2 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ วงเงินลงทุนรวมกว่า 5.8 แสนล้านบาท โดยตามแผนจะผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในปี 2583 รวม 10 โครงการ แบ่งเป็น กลุ่ม A1 โครงการที่มีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทาง 4 โครงการ ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง 3 โครงการ สถานะปัจจุบันได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะสามารถออกประกาศแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ หรือภายใน ต.ค. 2568 อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่งถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ของไทยที่จะมีการผลักดันการลงทุนในปีนี้

ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันทราบว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ก่อนส่งไปยัง ครม.พิจารณา เพื่อเปิดประมูลภายในปีนี้ โดยโครงการนี้ผลการศึกษาพบว่าอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 20.61% คาดการณ์เปิดบริการปี 2573 มีผู้โดยสาร 194,063 แสนคนเที่ยวต่อวัน

นอกจากนี้ ภายในปี 2572 จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในส่วนของกลุ่ม A2 รวม 6 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น โดยในส่วนนี้จะมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ 2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสายสีเทา ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ

นายอธิภู กล่าวอีกว่า หลังพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า M-Map2 ตามแผนเร่งด่วนและโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งหากพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2583 คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารเข้าระบบรถไฟฟ้าได้มากถึง 3.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจุบันมีเฉลี่ยราว 1.7 ล้านคน และสามารถเพิ่มปริมาณประชาชนเข้าใช้สถานีรถไฟฟ้าได้มากถึง 3.4 ล้านคน จากปัจจุบันเฉลี่ยราว 1.5 ล้านคน

สำหรับแผนพัฒนารถไฟฟ้า M-Map2 ขร.ศึกษาและจัดลำดับการลงทุนทั้ง 3 ระยะ แบ่งเป็น กลุ่ม A1 เส้นทางที่มีความจำเป็นและมีความพร้อมในการดำเนินการทันที รวม 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 63,480 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. จำนวน 4 สถานี วงเงิน 6,473 ล้านบาท
  2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. จำนวน 4 สถานี วงเงิน 10,670 ล้านบาท
  3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. จำนวน 3 สถานี วงเงิน 4,616 ล้านบาท
  4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กม. จำนวน 20 สถานี วงเงิน 41,721 ล้านบาท

ขณะที่ กลุ่ม A2 เส้นทางที่มีความจำเป็น โดยต้องเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการในปี 2572 รวม 6 เส้นทาง ระยะทาง 61.21 กม. วงเงินรวม 178,747 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. จำนวน 5 สถานี วงเงิน 25,505 ล้านบาท
  2. รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส ระยะทาง 1.20 กม. จำนวน 1 สถานี วงเงิน 3,489 ล้านบาท
  3. รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. จำนวน 15 สถานี วงเงิน 27,853 ล้านบาท
  4. รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.50 กม. จำนวน 6 สถานี วงเงิน 14,863 ล้านบาท
  5. รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน ระยะทาง 12.20 กม. จำนวน 11 สถานี วงเงิน 63,110 ล้านบาท
  6. รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.30 กม. จำนวน 14 สถานี วงเงิน 43,927 ล้านบาท

ด้านกลุ่ม B ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนา แต่จะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งในปี 2572 เพื่อประเมินความคุ้มค่าในด้านปริมาณผู้โดยสารและแนวทางการพัฒนา โดยกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 9 เส้นทาง ระยะทาง 132.35 กม. ประเมินวงเงินลงทุน 341,182 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. รถไฟฟ้าสายสีฟ้า ดินแดง – สาทร ระยะทาง 6.70 กม. จำนวน 9 สถานี วงเงิน 14,731 ล้านบาท
  2. รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง – ท่าพระ ระยะทาง 20.60 กม. จำนวน 19 สถานี วงเงิน 35,602 ล้านบาท
  3. รถไฟฟ้าสายสีเทา ลำลูกกา – วัชรพล ระยะทาง 11.50 กม. จำนวน 5 สถานี วงเงิน 17,514 ล้านบาท
  4. รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต – วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 6.80 กม. จำนวน 4 สถานี วงเงิน 16,347 ล้านบาท
  5. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน – รัตนาธิเบศร์ ระยะทาง 10.50 กม. จำนวน 7 สถานี วงเงิน 20,948 ล้านบาท
  6. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน ระยะทาง 3.45 กม. จำนวน 1 สถานี วงเงิน 14,774 ล้านบาท
  7. รถไฟฟ้าสายสีเขียว เคหะฯ – ตำหรุ ระยะทาง 9.50 กม. จำนวน 5 สถานี วงเงิน 15,882 ล้านบาท
  8. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8.00 กม. จำนวน 4 สถานี วงเงิน 21,249 ล้านบาท
  9. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ ระยะทาง 55.30 กม. จำนวน 28 สถานี วงเงิน 184,135 ล้านบาท