สสว.เดินตามโรดแมพพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ปี 61 พร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อตุลาคม 2558 และ สสว. ได้วางเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการใหม่กว่า 10,000 ราย โดยมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ และภาคการเกษตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันในปี 2561

โดยในปีนี้ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME Start Up) ปี 2561 ได้ร่วมกับ 19 หน่วยงาน ชูกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยดิจิทัล โดยเน้นผู้ประกอบการกลุ่มที่มีมูลค่าสูง (High Value Startup) ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.ด้านเกษตรและอาหารแปรรูป (Agriculture and Food) 2. ด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ (Health and Wellness) 3. ด้านธุรกิจสร้างสรรค์วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Creative and Cultural + High Value Service) 4. ด้านการศึกษาและสำรวจการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) 5. ด้าน Digital Internet of Things (IOT)

พร้อมเชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย วิสาหกิจชุมชนระดับฐานรากที่อยู่ในภาคการเกษตรมากกว่า 70% ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือพัฒนาการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ยกระดับจากภาคการผลิตไปสู่เกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 6 พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ 

1.ภาคเหนือตอนบน 11 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 1,000 ราย ภาคทั่วไป 1,000 ราย

2.ภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 750 ราย ภาคทั่วไป 250 ราย

3.ภาคกลาง ภาคตะวันออก 25 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 1,200 ราย ภาคทั่วไป 1,800 ราย

4.ภาคอีสานตอนบน 12 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 750 ราย ภาคทั่วไป 750 ราย

5.ภาคอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 500 ราย ภาคทั่วไป 500 ราย

6.ภาคใต้ 14 จังหวัด รองรับภาคการเกษตร 800 ราย ภาคทั่วไป 200 ราย   

ขณะที่การดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ปี 2561 ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนจะผ่านการคัดเลือกเพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เช่น ด้านการตลาด การเงิน บัญชี การผลิต การเตรียมความพร้อมการขอกู้เงินและภาษี

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจโดยจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มต้นจนแผนธุรกิจเสร็จสิ้น การให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 เรื่อง เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างมาตรฐานสินค้า นวัตกรรม การพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ การวางแผนการตลาด หรือการสร้างแบรนด์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกิจการ และสุดท้ายการเชื่อมโยงสถาบันการเงินและหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อพิจารณาแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ และเข้ารับการส่งเสริมด้านการตลาด

ขณะที่การอบรมตลอดโครงการที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้รับความรู้เพื่อยกระดับเป็น SME 4.0 ในการนำดิจิตอลมาใช้ในการทำธุรกิจแล้ว 8,357 ราย และผู้ประกอบการมีแผนธุรกิจเตรียมความพร้อมนำไปปฎิบัติในการดำเนินธุรกิจในภาคการเกษตร 1,449  ราย และภาคทั่วไป 1,633 ราย รวมทั้งสิ้น 3,082 ราย โดยคาดว่าผู้ประกอบการใหม่ที่ได้รับการยกระดับและพัฒนาจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ปี 2561 ถือเป็นหนึ่งในแนวทางของนโยบายหลักจาก สสว. ในด้านการปรับเปลี่ยนรูปแบบ (Transformation) เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ