เปิดมุมมอง! ’วีริศ อัมระปาล‘ ผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 20 เดินเครื่องยกระดับระบบรางไทย ลุยขับเคลื่อนองค์กร เร่งเคลียร์หนี้-สร้างรายได้
“วีริศ” ผู้ว่ารถไฟฯ ป้ายแดง ถือฤกษ์ 09.09 น. ลงนามสัญญาจ้างฯ พร้อมเดินเครื่องยกระดับระบบรางไทย ชี้เป็นช่วงขาขึ้น ลุยแก้หนี้สะสม 2.3 แสนล้าน เปิดทางเอกชนเช่าราง-พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สร้างชุมชน-ปัดฝุ่นไอซีดีลาดกระบัง หวังสร้างรายได้เพิ่ม ขอเวลาศึกษาแผนงานองค์กรชัดเจนภายใน 1 เดือน หนุนคนรุ่นใหมใช้ขนส่งสาธารณะ ยัน! ไม่หนักใจ ยึดประโยชน์องค์กร-ให้ความสำคัญสวัสดิการพนักงาน จ่อถกสหภาพฯ เร็วๆ นี้
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผภายหลังพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 20 วันนี้ (19 ก.ย. 2567) เวลา 09.09 น. โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟฯ เป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้างฯ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งฯ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า ตนได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งนับจากนี้ จะเร่งศึกษาภารกิจ และโครงการต่างๆ ของการรถไฟฯ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้การรถไฟฯ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทั้ง 2 ระยะ เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, การจัดหาขบวนรถใหม่ เพื่อสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า นำไปสู่การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และผลักดันให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ
นอกจากนี้ จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สะสมที่มีมูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท ตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้สำเร็จภายในระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งในเบื้องต้น จะต้องมาพิจารณาว่า หนี้มูลค่าดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร ทั้งในส่วนของหนี้ที่ให้บริการรถไฟเชิงสังคม (PSO) ซึ่งรัฐบาลสามารถสนับสนุนตามสัญญาได้มากน้อยแค่ไหน และหนี้ที่เกิดขึ้นจริง โดยจะต้องแยกให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องไปเจรจาประนอมหนี้ด้วย อีกทั้ง ตนยังมีแนวทางการให้เอกชนเช่าราง และการรถไฟฯ เข้าไปช่วยเดินรถ เพื่อใช้ในการเดินรถขนส่งสินค้า ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องมาดูถึงความเหมาะสมอีกครั้ง
อีกทั้ง ยังมีแผนการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของการรถไฟฯ เพื่อพัฒนาเป็นชุมชนให้เกิดมูลค่าสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นคอนโด หรือที่อยู่อาศัย ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (บริษัทลูก) เช่น ที่ดินบริเวณสถานีแม่น้ำ บางซื่อ มักกะสัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) เป็นต้น ส่วนจะนำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มาดำเนินการในพื้นที่ของการรถไฟฯ หรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณา และรอนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไนก็ตาม แผนงานดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาในการศึกษา และเห็นความชัดเจนภายใน 1 เดือน ก่อนแถลงนโยบายต่อไป
สำหรับนโยบายของผมในฐานะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ นั้น ยอมรับว่า ไม่หนักใจ และจะนำประสบการณ์จากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) มาประยุกต์ใช้ด้วย โดยมุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และนโยบายของการรถไฟฯ ที่ค้างคาอยู่ เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งมีบางสัญญาที่ต้องต่อรองและเข้าไปดูรายละเอียด เพื่อให้เข้าไปแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแก้ไขหนี้ ซึ่งการปฏิบัติงานของการรถไฟฯ อาจจะไม่ได้ทำอย่างรวดเร็ว เพราะผมเข้ามาคนเดียว พร้อมทีมงาน 3-4 คน ดังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน โดยจะต้องศึกษางานเร่งด่วน และพร้อมให้พนักงานการรถไฟฯ เข้ามาพูดคุยความต้องการว่า จะให้รถไฟเป็นไปแนวทางไหน“ นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ การรถไฟฯ อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ นััน ตนได้ตั้งเป้าหมาย และวางอนาคตของการรถไฟฯ ไว้ว่า หลังจากนี้ การขนส่งทางรถไฟ จะต้องเป็นการเดินทางหลักของประเทศไทย และจูงใจให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น ส่วนคำถามที่ว่า ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนับจากนี้ จะเห็นผลงานหรือโครงการอะไรบ้าง นายวีริศ กล่าวว่า จะเห็นระบบ ระเบียบ และมีการแบ่งงานอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพขององค์กรมากที่สุด รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังแก้ไม่ได้
ขณะเดียวกัน จะเน้นการดำเนินงานโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังมาทบทวนแผน และเร่งรัดการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าให้สะดวกมากขึ้น และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยในเร็วๆ นี้ พร้อมยืนยันว่า เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ขององค์กร และให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงานที่ควรจะได้รับอย่างเต็มที่ และไม่เกินกับสิ่งที่ภาครัฐหรือองค์กรจะให้ได้ อย่างไรก็ตาม จะเดินหน้าโครงการรถไฟท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่า จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ด้วย