ม.มหิดลร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาและส่งต่อระบบโลจิสติกส์ส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อชุมชนยั่งยืน!

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ พ.ศ. 2561 – 2580 ว่าด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ต่างต้องเร่งสร้างระบบสุขภาพเพื่อสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่งมารองรับ

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (LogHealth) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ามากกว่า 10 ปี ที่ LogHealth ร่วมภารกิจระดับชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมวิจัยออกแบบการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังส่วนท้องถิ่น พร้อมองค์ความรู้เพื่อส่งต่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ Capacity Building ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ต่อยอดความสำเร็จจากการออกแบบโมเดลระบบขนส่งยาและเวชภัณฑ์ของประเทศในช่วงวิกฤติ COVID – 19 ที่ผ่านมา ก่อนขยายผลสู่การพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกันไปแล้วได้แก่ SCGJWD และจะได้มีความร่วมมือต่อไป ได้แก่ WHA ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีทรัพยากรที่เป็น “คลังยา” และศักยภาพทางด้านโลจิสติกส์สุขภาพอยู่แล้วในระดับประเทศ เพื่อร่วมกับท้องถิ่นทำให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการเชื่อมโยงโดย LogHealth

โดยเป็นการทำให้ท้องถิ่นได้เข้าถึงการรักษา และรับยาจากคลังยาผ่านระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะที่สร้างสรรค์ร่วมกันกับ LogHealth เพื่อลดการเดินทาง และความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้สามารถเตรียมพร้อมกรณีเกิดเหตุวิกฤติฉุกเฉินอีกดังเช่นการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่ทำให้โลกแทบหยุดหมุน

ปัจจัยที่กำลังเป็นที่ต้องการในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สุขภาพระดับประเทศ อยู่ที่ความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งมีอยู่แล้วในหลักสูตรร่วมระหว่าง LogHealth และภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ฝากผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยใช้หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในระบบโลจิสติกส์สุขภาพ พร้อมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ

ก้าวต่อไป LogHealth เตรียมร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ทางด้านโลจิสติกส์สุขภาพในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นการขยายศักยภาพจากมันสมองของคนไทยให้โลกได้ประจักษ์ จากจุดเริ่มต้นของการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความร่วมมือจากชุมชนซึ่งจะทำให้เกิด “ฐานกำลังที่มั่นคง” สู่การมีระบบสุขภาพที่ยั่งยืน