“บีโอไอ”อนุมัติ Chery ค่ายรถยนต์รายใหญ่จีน ตั้งฐานผลิตรถยนต์ EV ในไทย

บีโอไออนุมัติ Chery ค่ายรถยนต์รายใหญ่บีโอไอ เผยผลสำเร็จการดึง Chery บริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน เข้ามาลงทุนในไทยเป็นรายล่าสุด หลังจากหารือกันกว่า 2 ปี โดยเตรียมจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยกลางปีนี้ เพื่อทดลองตลาด พร้อมตั้งฐานโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เริ่มผลิตปี 2568 เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่น ที่ใช้พวงมาลัยขวาเสริมแกร่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากความพยายามในการดึงการลงทุนจากบริษัท Chery Automobile ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดยบริษัท Chery ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา

สำหรับแผนการลงทุนองบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท “โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ซึ่งOMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และในเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มแรก บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก OMODA C5 EV ซึ่งเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ตามมาด้วยรถยนต์พรีเมียม เอสยูวี ออฟโรดรุ่น JAECOO 6EV, JAECOO 7 PHEV และ JAECOO 8 PHEV พร้อมเปิดโชว์รูม 39 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค

การตัดสินใจลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยของบริษัท Chery ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว
7 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA และ Foton กรณีของ Chery เป็นรายที่ 8 ช่วยตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า กลุ่มบริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นายนฤตม์ กล่าว  

ทั้งนี้ สำนักงานบีโอไอที่ประเทศจีนได้เริ่มหารือกับบริษัท Cheryตั้งแต่ปี 2564 จากนั้นได้มีการพบปะหารือ และให้ข้อมูลกับทีมงานของบริษัทเป็นระยะ ๆ ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เลขาธิการบีโอไอ ได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Chery ที่ประเทศจีน โดยได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนใหม่ ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งได้หารือแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การยื่นคำขอและการอนุมัติให้การส่งเสริม
การลงทุนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 คณะผู้บริหารจากบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด นำโดยนายฉี เจี๋ย ประธานบริษัท ได้เข้าพบเลขาธิการบีโอไอ เพื่อหารือแนวทางการลงทุนในระยะต่อไป รวมทั้งการเข้าถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยผ่านการประสานงานของบีโอไอด้วย

ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาค และกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เรามองเห็นโอกาสการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใน
ประเทศไทย จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่ของรัฐบาลไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ โอโมดา แอนด์ เจคู โดยเรามุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์
คนไทยให้มากที่สุด และเรามีความตั้งใจที่เลือกใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทย ซึ่งในอนาคตเราจะทำ Sourcing ชิ้นส่วนจากในประเทศด้วย นายฉี กล่าว

สำหรับการส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)
ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) บีโอไอไดอนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 19 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท