‘วิทยุการบินฯ’ ถกร่วม ลาว-จีน เพิ่มเส้นทางบินใหม่ รองรับปีละ 2 แสนไฟล์ท ลุยปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ ก้าวสู่ ’ฮับการบิน‘ เทียบเท่า ’ลอนดอน‘

“วิทยุการบิน” เร่งหารือร่วม 3 ประเทศ “ไทย-สปป.ลาว-จีน” เปิดเส้นทางบินใหม่คู่ขนาน รองรับปีละ 2 แสนเที่ยวบิน เริ่มคิกออฟ 1 เม.ย.นี้ จ่อชง ICAO ไฟเขียว คาดเริ่มเปิดใช้ในปี 69 เผยภาพรวมการจราจรทางอากาศ วางเป้าปีนี้ มี 9 แสนไฟล์ท กวาดรายได้ 1.2 หมื่นล้าน ตั้งธงฟื้นตัว 100% รวม 1 ล้านไฟล์ทในปี 68 พร้อมกางแผนสนองนโยบายรัฐ ขับเคลื่อนไทยก้าวสู่ฮับการบิน จ่อทุ่มงบ 6 พันล้าน อัพเกรดเทคโนโลยี รับ 2 ล้านไฟลท์ภายใน 7 ปี พ่วงปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศให้เทียบเท่า “ลอนดอน”

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บวท. อยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อขยายความจุ (Capacity) เส้นทางการบินบนน่านฟ้าระหว่างไทย–จีนเป็น 2 เท่า ซึ่งในปัจจุบันขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินในเส้นทางดังกล่าวอยู่ที่ 100,000 เที่ยวบินต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 เที่ยวบินต่อปี สามารถรองรับได้ถึงปี 2580-2581 โดยการขยายความจุในเส้นทางการบินดังกล่าว จะดำเนินการศึกษาเส้นทางบินใหม่คู่ขนานกับเส้นทางเดิม

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ บวท.จะเริ่มคิกออฟการดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย. 2567 รวมถึงหาข้อสรุปผลการหารือร่วมกัน 3 ประเทศในการกำหนดเส้นทางบินใหม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้ว จะนำเสนอไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้มีมติเห็นชอบโดนเฉพาะด้านความปลอดภัย จากนั้นทั้ง 3 ประเทศจะต้องไปดำเนินการขอความเห็นชอบต่อสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศ ก่อนที่จะออกประกาศให้ใช้เส้นทางบินใหม่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้ในปี 2569

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเส้นทางบินใหม่ ไทย-สปป.ลาว-จีน แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้สายการบิน และลดความแออัดของน่านฟ้า พร้อมทั้งรองรับการฟื้นตัวในการเดินทางในเส้นทางระหว่างไทย-จีน ที่กลับมาแล้วกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2562 เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปจีน จะต้องใช้เส้นทางบินเดียวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของน่านฟ้าลาว มีชื่อ SAGAG ซึ่งเกิดการกระจุกตัว หนาแน่น และเป็นคอขวดด้วย

นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการจราจรทางอากาศในปัจจุบัน เริ่มกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ที่มีเที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน โดยในปี 2567 บวท.คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 9 แสนเที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีเที่ยวบินอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวบิน และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน ส่วนรายได้นั้น คาดว่าปี 2567 บวท. จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนั้น บวท.มีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาล มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ ซึ่งในระยะเร่งด่วน บวท. จะดำเนินการพัฒนาเส้นทางบิน โดยมีโครงการ Flagship ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับ 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ภายในระยะเวลา 7 ปี หรือภายในปี 2574 โดยคาดว่า จะลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีประมาณ 6,000 ล้านบาท (ปี 2568-2573)

ทั้งนี้ จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงาน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพ กำหนดการขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน เทียบเท่ากับลอนดอน

นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บวท. ยังได้จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) แบ่งเป็น ทางด้านเหนือ ไปยังสนามบินเชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน ส่วนด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

ขณะที่ ด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ส่วนด้านตะวันตก อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนาน จะใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนดทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง