EXIM BANK สนับสนุน Green Yellow ลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยใช้พลังงานสะอาด ยกระดับธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายแฟรงค์ คลุค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท กรีนเยลโล่ (Green Yellow) ในประเทศไทยและเอเชีย ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำนวนรวม 1,109 ล้านบาท ให้แก่บริษัท กรีนเยลโล่ โซล่าร์ 3 (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อนำไปใช้ลงทุนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า การสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้บริษัทด้านพลังงานระดับโลกมีบทบาทช่วยเหลือในการติดตั้งและดูแลระบบโซลาร์เซลล์ให้แก่สถานประกอบการในไทย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกโดยใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) เพื่อร่วมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท กรีนเยลโล่ เริ่มก่อตั้งในฝรั่งเศสและมีสำนักงานใน 17 ประเทศทั่วโลก เชี่ยวชาญด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับคู่ค้าทั่วโลก ดำเนินโครงการโดยการลงทุน-ติดตั้ง-ดูแลโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถึง 1,300 MW สำหรับโครงการในประเทศไทยที่ดำเนินการติดตั้งแล้วมีกำลังการผลิต 190 MW ในหลายอุตสาหกรรม บริษัท กรีนเยลโล่ โซล่าร์ 3
(ไทยแลนด์) จำกัด ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Solar PPA กับผู้ประกอบการมากกว่า 34 ราย เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หลังคาโรงจอดรถแบบโซลาร์เซลล์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม มีกำลังการติดตั้งรวม 56 MW และมีแผนขยายธุรกิจให้เติบโตในประเทศไทยและอาเซียน
“EXIM BANK มุ่งดำเนินบทบาท Green Development Bank โดยชูกลยุทธ์ Greenovation พัฒนานวัตกรรมการเงินสีเขียว เร่งผลักดันธุรกิจไทยทุกระดับเข้าสู่ Green Supply Chain และขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปี และ15 ปีตามลำดับ ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571” ดร.รักษ์ กล่าว