‘สุริยะ’ ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือ บูมพัฒนาโครงข่าย ‘คมนาคม’ ผุดแผนยกระดับสนามบิน รับการเดินทาง-ท่องเที่ยว

“สุริยะ” ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือ เดินเครื่องแผนขยายสนามบินล้านนา รองรับผู้โดยสารปีละ 20 ล้านคน กระตุ้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ 17 จังหวัดภาคเหนือ กางแผนศึกษา “สนามบินพะเยา” จ่อชงของบปี 68 ลุยออกแบบฯ-ศึกษา EIA คาดเปิดใช้ปี 70 มีผู้โดยสาร 9.9 หมื่นคน พร้อมเช็กงานการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย-โครงข่ายถนนสนับสนุนการขนส่งสินค้าและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ก่อนประชุม ครม. สัญจร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะด้วยว่า จ.ลำพูน เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถทำให้เป็นเมืองหลักได้อีกหนึ่งจังหวัด เชื่อว่าการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือรวม 17 จังหวัด จะรวมตัวกันและกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเขตหลักได้ สำหรับการขยายสนามบินล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ จ.เชียงใหม่ และจะทำให้การเดินทางมาจากเชียงใหม่ไปลำพูนใช้เวลาไม่นานนั้น จะเป็นการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจของภาคเหนือ 17 จังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา เป็นแผนก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งกระทรวงคมนาคมดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับสนามบินทั่วประเทศ ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

*** เร่งศึกษาสร้าง ‘ท่าอากาศยานพะเยา’ ***

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินพะเยาว่า สนามบินพะเยา อยู่ในพื้นที่ ต.ดอนศรีชุม อ.ดอกคำใต้ ซึ่งที่ผ่านมากรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา โดยได้สำรวจออกแบบเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564 ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าจ้างออกแบบงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่น ๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.69 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งท่าอากาศยานที่เหมาะสม คือ ต.ดอนศรีชุม และ ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที สำหรับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จากการศึกษากรณีวิเคราะห์สถานการณ์สูง (High Case) ในปี 2570 ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้โดยสาร 99,191 คนต่อปี และมีจำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จ.พะเยา เป็น 1 ใน 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ไม่มีสนามบิน โดยมีประชากรกว่า 4 แสนคน (ข้อมูล ณ ม.ค. 2567) รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยพะเยา และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นที่นิยม อาทิ ภูลังกา ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง การมีระบบคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวกระจายตัวไปเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

โดยในปัจจุบันการเดินทางมา จ.พะเยา โดยเครื่องบินจะไปลงท่าอากาศยานของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งหากจังหวัดพะเยามีสนามบินที่ไม่ห่างจากตัวเมือง จะทำให้เป็นทางเลือกการเดินทางที่ทำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดพะเยาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนในพื้นที่ได้อีกด้วย

*** บูมคมนาคม จ.เชียงราย ***

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้ติดตามประเด็นการเตรียมความพร้อมและการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ มีโครงการที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน ได้แก่ 1.งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือและปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B

2.งานจ้างก่อสร้างพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21, 3.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ 4.งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า – ออก ท่าอากาศยานฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณ มิ.ย. 2567 นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานฯ ระยะที่ 1 (ปี 2568 – 2571) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร เป็น 6 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 (ปี 2576 – 2578) เป็น 8 ล้านคนต่อปี โดยมีแผนงานสำคัญ ได้แก่ งานก่อสร้างเพิ่มลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น

สำหรับโครงการสนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อบรรเทาการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานและสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.เชียงราย ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างทางลอดและปรับปรุงถนนบริเวณแยกศูนย์ราชการบนถนนสาย ชร.1023 อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 1.635 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 850 ล้านบาท มีแผนก่อสร้างระหว่างปี 2567 – 2569, 2.ถนนสายแยก ทล.1 – สาย ชร.5023 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.014 กม. วงเงินก่อสร้าง 200 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568

3.ถนนสาย ค2, จ7, ง4 ผังเมืองรวมเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.735 กม. วงเงินก่อสร้าง 250 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568, 4.ถนนสายเชื่อม ทล.1207 – ถนนเลี่ยงเมืองกรมทางหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 2.356 กม. วงเงิน 84 ล้านบาท โดยเสนอขอรับงบประมาณค่าเวนคืนปี 2567 – 2568 และ 5.ทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ชร.1023 กับ ทล.1 อ.เมือง จ.เชียงราย วงเงินก่อสร้าง 409.560 ล้านบาท มีแผนเสนอขอรับงบประมาณค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2569

นอกจากนี้ ในการประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1020 ตอนบ้านหัวดอย – บ้านใหม่ดอยลาน จ.เชียงราย กม. 7+420 – 30+000 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็ว และสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก ปลอดภัยยิ่งขึ้น และยังเป็นการสนับสนับการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อด่านพรมแดนอีกด้วย รวมทั้งกระทรวงคมนาคมมีการดำเนินโครงการปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในการประชุมได้รับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในส่วนของการก่อสร้างจุดกลับรถบริเวณ โรงพยาบาลแม่จัน และสะพานลอยคนข้าม เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลและคนในพื้นที่ รวมทั้งมอบให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท บูรณาการร่วมกันเพื่อรวบรวมการปรับปรุงไฟฟ้าสว่างบนโครงข่ายถนนในจังหวัดเชียงรายและพะเยา และจุดตัดทางแยกเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม และพร้อมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจากการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น