“โคเวสโตร”เปิดโรงงานต้นแบบผลิตสารอะนิลีนชีวภาพแห่งแรกของโลก

โคเวสโตรสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้วยการนำเสนอกระบวนการผลิตสารอะนิลีนรูปแบบพิเศษโดยใช้สารชีวมวลจากพืชแทนการใช้ปิโตรเลียมทั้งหมดได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งขณะนี้โคเวสโตรได้เริ่มนำร่องการผลิตแบบพิเศษนี้ที่โรงงานต้นแบบที่เมืองเลเวอร์คูเซนแล้ว โดยในขั้นต้นสารอะนิลีนชีวภาพปริมาณมากจะถูกผลิตขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่นี้ ให้สามารถพัฒนาและถ่ายทอดไปสู่ระดับอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับในอุตสาหกรรมพลาสติก สารอะนิลีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต (MDI) และวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ผลิตฉนวนโฟมซึ่งช่วยประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โคเวสโตรเชื่อมั่นว่าหมุดหมายนี้จะช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทอย่างลงตัว

ในงานพิธีเปิดโรงงานต้นแบบนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจากแวดวงการเมืองและวิทยาศาสตร์ได้แก่ โมนา นอยเบาวร์ (Mona Neubaur) รัฐมนตรีช่วยว่าการรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย และ ศาตราจารย์วอลเตอร์ ไลทเนอร์ (Walter Leitner) กรรมการผู้จัดการแห่งสถาบัน Max Planck Institute for Chemical Energy Conversion ณ เมืองมึลไฮม์อันแดร์รูว์ พร้อมด้วย ดร.ทอร์สเทน ไดร์เออร์ (Dr. Thorsten Dreier) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของโคเวสโตร ได้มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของวัตถุดิบชีวภาพเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืนแห่งอนาคต

 “สารอะนิลีนยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตโฟม ซึ่งใช้เป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับอาคารและตู้เย็น” ดร. ไดรเออร์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของสารเคมีพื้นฐานชนิดนี้ “จนถึงตอนนี้ อะนิลีนยังจำเป็นต้องผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ แต่ด้วยกระบวนการผลิตใหม่ของเรา จะสามารถช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ในวันนี้เราสามารถประสบความสำเร็จได้แบบก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับของเทคโนโลยี”