ชัวร์! ถมทะเล ‘ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3’ เสร็จแน่ มิ.ย. 67 เร่งสร้าง ‘ท่าเรือ F’ เปิดใช้ปี 70

กทท. อัปเดต ทลฉ. เฟส 3 เร่งเครื่องถมทะเลท่าเรือ F คืบหน้า 17.34% ยันเสร็จตามแผน มิ.ย. 67 ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ GPC บริหารภายใน พ.ย. 68 ส่วนงาน 2 ก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ-ระบบถนน-ระบบสาธารณูปโภค มูลค่า 7.3 พันล้าน เผยเอกชนยื่นประมูล 4 ราย คาดได้ตัวผู้ชนะ ม.ค.นี้ เริ่มสร้าง เม.ย. 67 แล้วเสร็จปี 70 เพิ่มขีดความสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเป็น 13 ล้าน ที.อี.ยู.

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 วันนี้ (8 ม.ค. 2567) ว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 โดยงานก่อสร้างทางทะเลของท่าเรือ F เดือน พ.ย. 2566 ดำเนินการได้ 2.08% จากแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.90% ขณะที่ ธ.ค. 2566 ดำเนินการได้ 2% จากแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.99%

ทั้งนี้ แผนการปฏิบัติงานดังกล่าว ในปัจจุบันกิจการร่วมค้า CNNC ได้นำเครื่องจักรทางน้ำเข้ามาปฏิบัตงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 ลำในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมารวมถึงกิจการร่วมค้าฯ ได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก จำนวน 120 คน จากเดิมมีบุคลากรจำนวน 400 คน รวมมีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 520 คน

อย่างไรก็ตาม นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นที่การก่อสร้างมีความคืบหน้ามากกว่าแผนงาน และเป็นไปตามการเร่งรัดของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้เร่งรัดให้ปฏิบัติงานในแต่ละเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 3% จากในอดีตอยู่ที่ 0.5% ต่อเดือน และในปัจจุบันอยู่ที่ 2% ต่อเดือน

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ (ณ ธ.ค. 2566) กิจการร่วมค้า CNNC สามารถดำเนินงานได้ที่ 17.34% ล่าช้ากว่าแผนในภาพรวมโครงการอยู่ที่ 1.67% อย่างไรก็ตาม ได้ติดตามเร่งรัดดำเนินงานให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้ กทท. ได้ภายใน มิ.ย. 2567 ตามกำหนด ก่อนจะส่งมอบให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาตามกำหนดภายใน พ.ย. 2568 เพื่อเริ่มบริหารจัดการ ทลฉ. ระยะที่ 3 ต่อไป โดยยืนยันว่า การดำเนินงานในปัจจุบัน ยังไม่กระทบกับสัญญาของ GPC แต่อย่างใด ซึ่ง GPC จะได้ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี และจะเริ่มต้นสัญญา นับจากวันที่ กทท. ส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จ

ขณะที่ ส่วนงานที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 7,387 ล้านบาทนั้น ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารรายละเอียดตาม พ.ร.บ.จัดจ้างฯ ภายหลังจาก กทท. ประกาศประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ขณะนี้ได้ปิดรับซองการประมูลแล้ว พบว่ามีเอกชนสนใจ จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, 2.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR, 3.บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ

ทั้งนี้ งานส่วนที่ 2 ของโครงการฯ คาดว่า จะได้ผู้ชนะการประมูลภายในปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ. 2567 และลงนามสัญญา ก่อนจะเริ่มดำเนินการให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างภายใน เม.ย. 2567 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปีกว่า หรือ 1,260 วัน คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2570 โดยโครงการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 1 (F1) แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. โดยปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดสามารถรองรับความจุตู้สินค้าอยู่ที่ 11 ล้าน ที.อี.ยู. รวมเป็น 13 ล้าน ที.อี.ยู. จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อดำเนินการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 2 (F2) แล้วเสร็จในปี 2574 รวมเป็น 15 ล้าน ที.อี.ยู. และจะครบ 18.1 ล้าน ที.อี.ย.ในปี 2581

ด้านนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการก้อสร้าง ทลฉ. ระยะที่ 3 กล่าวว่า นางมนพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดติดตามการทำงานเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ ทำให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วขึ้น พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้ากลับมายังกระทรวงคมนาคมตลอดเวลา และยืนยันว่า การดำเนินงาน ทันตามกำหนดการอย่างแน่นอน สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี

อีกทั้ง เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของ ทลฉ. จาก 7% เป็น 30% เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจาก 14% ของ GDP เหลือ 12% ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ