สิ้นสุดการรอคอย! ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ เตรียมเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง-ประชาชนนั่งฟรี ช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ย.นี้

เฮ! “นายกฯ” จ่อตรวจเยี่ยม “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” พร้อมเปิดทดลองให้ประชาชนนั่งฟรี ดีเดย์ช่วงบ่าย 21 พ.ย.นี้ เผยบางสถานียังเปิดใช้ทางออกไม่ครบ เหตุทางขึ้น-ลงยังไม่เสร็จ ยันเสร็จ 100% ก่อนเปิดเต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท วันที่ 18 ธ.ค. 66 ด้านส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองฯ เปิดใช้ในปี 68

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมติดตามและเตรียมความพร้อมการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) รวม 30 สถานี โดยมีกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น จะมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของวิศวกรอิศระภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่ในช่วงเวลาบ่ายของวันที่ 21 พ.ย. 2566 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงโดยให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีในเวลาถัดไป ซึ่งอยู่ระหว่างการรอยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ (เก็บค่าโดยสาร) ในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ภาพรวมโครงการฯ ในขณะนี้ มีความคืบหน้า 99.992% โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น–ลงสถานีบริเวณ 3 สถานีได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11), สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.นี้นั้น จะยังมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน

ขณะที่อัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานีนั้น ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท โดยราคาดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. แล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา และเป็นไปตามสัญญาฯ ราคาค่าโดยสาร ซึ่งอยู่ที่ 14-42 และเมื่อรวมกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปัจจุบันจึงเป็น 15-45 (ข้อมูล ณ ม.ค. 2566) ทั้งนี้ รฟม. ได้เสนอร่างอัตราค่าโดยสารมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยคาดว่า จะเสนอให้ ครม. พิจารณาก่อนวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ตามแผนกำหนดของ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการฯ ที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันดังกล่าวต่อไป

รายงานข่าวจาก NBM ระบุว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่ 2 ที่จะเปิดให้เปิดบริการในประเทศไทย เป็นโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างเขตมีนบุรี และ จ.นนทบุรี มีระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร (กม.) รวมทั้งหมด 30 สถานี

นอกจากนี้ NBM ได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี ระยะทาง 3 กม. ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่อยู่อาศัย และทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้า และการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ยังเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สำคัญอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่–เตาปูน ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01), รถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ (PK14), รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน–มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี (PK30)