CPAC Green Solution จับมือ PTG พลิกโฉมการออกแบบและก่อสร้างปั๊มน้ำมัน มุ่งสู่ Low Carbon Construction 

CPAC Green Solution ผู้นำด้านนวัตกรรมก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมครบวงจร ที่พร้อมช่วยแก้ไขทุกปัญหาด้านการก่อสร้าง ร่วมกับ PTG ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันพีที (PT) จัดเสวนาหัวข้อ “Decarbonizing Construction with BIM CPAC Green Solution X PTG Showcase” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แชร์องค์ความรู้กระบวนการบริหารจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการก่อสร้าง ผ่านการดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนากระบวนการก่อสร้างและแพลตฟอร์มที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทั้ง KIT Carbon และ BIM เข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ สู่การเป็นปั๊มน้ำมันสีเขียว หวังสร้างมาตรฐานเดินหน้าสู่ Low Carbon Construction ตอกย้ำแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด CPAC GREEN SOLUTION “A PART OF YOUR SUCCESS: เคียงข้างทุกความสำเร็จของคุณ”   

 นายไกรสร สวัสดิ์ไธสง Head of SSHE PTG บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) กล่าวว่า ในงานประชุม COP21 ที่กรุงปารีสในปี 2015 ประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ดังนั้นทาง PTG ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันจึงต้องประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่ทางองค์กรจะได้รับจากกลไกต่างๆ ของทางรัฐบาลที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เช่น การจัดทำมาตรฐานฉลากคาร์บอน และการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการและองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์กําหนด เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงทางธุรกิจแล้ว พบว่าสองส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือการขนส่งและสถานีบริการน้ำมัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางบริษัทคุยกับ CPAC Green Solution เพื่อหาวิธีในการบริหารจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการทำงานก่อสร้าง ทั้งวิธีการเลือกวัสดุ วิธีการก่อสร้าง และ นำเทคโนโลยี Digital & BIM เข้ามาเพื่อประเมิน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างด้านอื่นๆ

นายกีรติ นิติโชติ Construction Business Development Manager บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า หลังจากได้รับโจทย์มา ทาง CPAC Green Solution พร้อมที่จะหาวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการก่อสร้างโดยเลือกปรับวัสดุให้เป็นวัสดุคาร์บอนต่ำ พร้อมใช้แพลตฟอร์ม KIT Carbon ช่วยในการคัดเลือกวัสดุที่เหมาะสมและเก็บข้อมูลการจัดการคาร์บอนของการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน ในส่วนของการก่อสร้างเน้นการทำงานแบบ Offsite Construction ด้วยการทำงานผ่านระบบ Precast และ Modular นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี BIM มาใช้ในการ

บริหารจัดการการก่อสร้างเพื่อการวางแผนงานที่ดี เกิด Waste น้อย พร้อมกับใช้ BIM SITE Dashboard ช่วยติดตามการก่อสร้างให้เป็นตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ในขั้นตอนของการ Operate อาคาร เลือกใช้วัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานเพื่อช่วยลดปริมาณคาร์บอนจากการใช้พลังงาน และยังวางแผนว่าในอนาคตจะนำวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างกลับมาเป็น Recycle Aggregate อีกด้วย 

 สำหรับการพัฒนาสถานีบริการน้ำมันต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมของ PT มีการปรับเรื่องการใช้วัสดุในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Synthetic Fiber แทนการใช้เหล็กเส้นในการทำพื้น ซึ่งนอกจากจะลดคาร์บอนแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานนานขึ้น หรือการเลือกใช้ผนังสำเร็จรูปแทนผนังอิฐมวลเบา ช่วยควบคุมอุณหภูมิในอาคารและลดการใช้ไฟฟ้าลง จากการวิเคราะห์ของแพลตฟอร์ม พบว่าสามารถลดคาร์บอนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึง 10 เท่า นอกจากนี้ การที่เราเลือกใช้การก่อสร้างแบบ cut-to-length ก็ช่วยลดปริมาณเศษเหล็กหน้างานลงอย่างมีนัยยะสำคัญ นายกีรติ กล่าว

 นายวีระยุทธ ต่วนพันธ์ล้อม BIM Specialist บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การนำ BIM มาใช้ในการพัฒนาครั้งนี้ ช่วยให้แยกการก่อสร้างในแต่ละส่วนออกจากกัน และคำนวนค่าคาร์บอนของวัสดุแต่ละชนิดให้ โดยเราสามารถลองเปลี่ยนวัสดุต่างๆ ใน BIM เพื่อดูค่า Embodied carbon ของวัสดุแต่ละชนิดและเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานและเกิดคาร์บอนต่ำที่สุดได้ ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาสถานีบริการน้ำมันต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมของ PT ครั้งนี้สามารถลดการเกิดคาร์บอนเมื่อเทียบกับกระบวนการออกแบบและก่อสร้างแบบเดิมประมาณ 8% หรือ 60-70 ตันคาร์บอน

นายอิทธิพล ดีมี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) กล่าวว่า ด้วยโซลูชันและกระบวนการที่ทาง CPAC Green Solution พัฒนาขึ้นมา สามารถตอบโจทย์ของทาง PTG ได้ครบ ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด การลดระยะเวลาก่อสร้างลงจากเดิม 150 วันต่อหนึ่งสถานี เหลือไม่ถึง 120 วัน แรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างลดลงจาก 60-70 คนเหลือเพียง 40 คนเท่านั้น ราคาสมเหตุสมผล และคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม

แม้ว่าตอนแรกจะกังวลเรื่องคุณภาพอยู่บ้าง เนื่องจากมีการเปลี่ยนวัสดุหลายอย่างที่ไม่เคยใช้มาก่อน แต่หลังจากที่เปิดสถานีบริการน้ำมันนี้มา 4-5 เดือน ก็ยังไม่พบปัญหาใดๆ จากความสำเร็จครั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะจับมือกับ CPAC Green Solution พัฒนาโซลูชันใหม่ๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ในที่สุด นายอิทธิพล กล่าว