อบก. รับรองไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำจากบีไอจี พร้อมรุกคลีนไฮโดรเจน

บีไอจีรับใบรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products: CFP) ในผลิตภัณฑ์ก๊าซไฮโดรเจนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยการผลิตไฮโดรเจนจากบีไอจีปลดปล่อยคาร์บอนลดลง 95% เทียบเท่าการผลิตบลูไฮโดรเจน ช่วยสนับสนุนและให้ความมั่นใจกับภาคอุตสาหกรรมไทยที่ใช้ไฮโดรเจนจากบีไอจี อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บีไอจีได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) จากการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ด้วยนวัตกรรมโรงแยกอากาศที่ใช้ความเย็นจากกระบวนการ LNG Regasification เป็นรายแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า คิดเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าลดลงได้กว่า 100,000 ตัน/ต่อปี และในปีนี้ บีไอจีได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ในส่วนของก๊าซไฮโดรเจน โดยไฮโดรเจนจากกระบวนการผลิตของบีไอจีปล่อยคาร์บอนเพียง 875 กรัม/ไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม ในขณะที่ไฮโดรเจนจากกระบวนการผลิตปกติปล่อยคาร์บอนสูงถึง 13,000 – 13,500 กรัม/ไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ไฮโดรเจนจากบีไอจีจึงมีการปลดปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าถึง 95% จากกระบวนการผลิตไฮโดรเจนปกติ ซึ่งเทียบเท่าบลูไฮโดรเจน (Blue Hydrogen)

คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า “ไฮโดรเจนจากบีไอจีปลดปล่อยคาร์บอนเทียบเท่าบลูไฮโดรเจน ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบีไอจีที่ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วย Climate Technology ร่วมมือลดปัญหาภาวะโลกร้อน บีไอจีได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตก๊าซลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง โดยการได้รับการรับรองจากอบก. ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการลงมือปฎิบัติจริงของบีไอจีเพื่อเดินหน้ามุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศวางไว้ในปี ค.ศ. 2065”

ทั้งนี้ บีไอจียังมุ่งเน้นการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำที่ถือว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ โดยในภาคยานยนต์ มีการก่อตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และ โตโยต้า เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงและนำมาให้บริการในรูปแบบแอร์พอร์ทลีมูซีนรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง บีไอจีพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศุนย์ หรือ Net Zero ร่วมกัน